
คณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล ผนึกกำลังโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรร่วมกับคุณธิติพร ดนตรีพงษ์ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “โครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ” ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง จำนวน 200 คน และผู้ปกครอง ณ ห้อง NR Digital Knowledge Centre โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพมหานคร
โดยในครั้งนี้การปฏิบัติภารกิจวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นพันธกิจในการเตรียมความพร้อมเยาวชนให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร่วมกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรับรู้ภาวะสุขภาพและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตร่วมกับผู้ปกครอง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนหลักประกันสุขภาพ สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเยาวชนให้ตระหนักต่อการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยการพัฒนากลไกทางสังคมร่วมกับการพัฒนาการขับเคลื่อนโรงเรียนแบบทั้งระบบโรงเรียนโดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ทำให้ผู้บริหารและครู เห็นความสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะเยาวชน โดยโรงเรียนได้ดำเนินการพัฒนาโรงรียนสร้างเสริมสุขภาวะทั้งระบบโรงเรียนตามแนวทางของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และยังดำเนินการพัฒนาเยาวชนให้เข้าใจและตระหนักต่อการเตรียมตัวเองให้พร้อมและสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ผ่านการพัฒนาโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานเขตบางกอกน้อย และพัฒนารายวิชาที่มีการบูรณาการมาจากหลักสูตร เยาวชนจิตอาสาใส่ใจผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่เป็นผลการวิจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนสองวัยให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ได้รับวบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การดำเนินการเตรียมการรองรับสังคมสูงอายุทางด้านกลไกทางสังคม จำเป็นต้องมีการรวมพลังจากทุกภาคส่วน องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายจากภาครัฐ โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ (NGO) สำนักงานเขตการปกครองในพื้นที่ ประชาชนและเอกชน
