แก้ปัญหา “เด็กไร้สัญชาติ” สร้างความเสมอภาคการศึกษา Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน
การศึกษา” ถือเป็นรากฐานนำไปสู่การพัฒนา “ทุนมนุษย์” ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ที่ผ่านมายังพบปัญหาเด็กและเยาวชนไทยหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมากจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ “ปัญหาการไร้สัญชาติ”ของบุตรคนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในประเทศไทย กลายเป็นอุปสรรคที่สะท้อนความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เพราะเมื่อไม่มีสัญชาติไทยทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษา เช่น การกู้เงินเพื่อการศึกษา รวมถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ปัญหาดังกล่าว จึงนับเป็นการสูญเสียบุคลากรจำนวนมาก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เกิดความหวังที่จะคลี่คลายปัญหานี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย (ชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม) ที่รอการพิจารณากำหนดสถานะในปัจจุบัน จำนวน 483,626 คน ให้ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร) หรือได้รับสัญชาติไทย อย่างรวดเร็ว
โดยร่นระยะเวลาการพิจารณาจาก 270 วันเหลือ 5 วัน สำหรับการขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และร่นระยะเวลาการพิจาณาจาก 180 วันเหลือ 5 วัน สำหรับการขอมีสัญชาติไทยของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย
“กิตตินัย บวรชนะกุล” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มแกนนำเยาวชนศุภนิมิต และจิตอาสาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สะท้อนมุมมองว่า หากมติ ครม.ดังกล่าวดำเนินการเป็นรูปธรรมในพื้นที่ได้จริง จะถือเป็นการ “ปลดล็อก” อุปสรรคทางการศึกษาของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นรอยต่อกับประเทศเมียนมาร์ ทำให้ที่ผ่านมามีคนกลุ่มน้อยจากเมียนมาร์หลายชาติพันธุ์อพยพมาอยู่ในพื้นที่ อาทิ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ ทวาย ขมุ ม้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคนต่างด้าวเหล่านี้ มีปัญหาการนำบุตรที่เกิดในประเทศไทยไปขอสัญชาติไทย เนื่องจากขาดความรู้ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ไม่ได้คลอดบุตรที่โรงพยาบาลจึงขาดหลักฐานการแจ้งเกิด ปัญหาความยากจนทำให้ไม่มีเงินดำเนินการ อีกทั้งหลายกรณีต้องใช้เวลานานในการพิจารณาขอสัญชาติไทย
“เฉพาะในอำเภอทองผาภูมิ มีประชากรที่เป็นคนชาติพันธุ์มากกว่า 60% ของจำนวนประชากรทั้งอำเภอ ซึ่งมากกว่าคนไทย ดังนั้นจึงมีจำนวนบุตรต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจำนวนมาก ที่ผ่านมาเมื่อการขอสัญชาติไทยทำได้ยาก หลายคนรอนาน 2-3 ปี ทำให้เด็กและเยาวชนไม่มีสัญชาติ ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประกอบกับมีความยากจน ผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่เป็นคนชาติพันธุ์ทวาย จึงรู้ปัญหานี้ดี แม้ว่าในพื้นที่จะเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย เรียนได้จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และสามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในจังหวัดได้ แต่ก็ยังไม่สามารถเรียนต่อได้ในมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่ นอกจากนี้การไม่มีสัญชาติไทยยังประสบปัญหาในการสมัครงาน โดยเฉพาะการรับราชการ ที่ต้องมีสัญชาติไทย”
ที่ปรึกษาประธานกลุ่มแกนนำเยาวชนศุภนิมิต ยังบอกด้วยว่า เมื่อเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์เหล่านี้ ต้อง “หลุดจากระบบการศึกษา” เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะปัญหาการค้าและเสพยาเสพติด ปัญหาการท้องก่อนวัย และปัญหาการลักขโมย ดังนั้นการได้สัญชาติไทย จะทำให้เด็กและเยาวชนชาติพันธุ์เหล่านี้ ได้รับการศึกษา และสวัสดิการเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จึงถือเป็นการแก้ปัญหาทางสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของไทย เป็นหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญในการสร้างความเสมอภาคในทุกมิติ หนึ่งในนั้น คือ การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้เดินหน้าโครงการ “Zero Dropout : เด็กทุกคนต้องได้เรียน” มาตั้งแต่ปี 2565 นำร่องที่จังหวัดราชบุรี เพื่อหวังเป็น “โมเดลต้นแบบ” ในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ ตามมา
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากการศึกษาจากปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ให้ได้กลับเข้ามาเรียน โดยแสนสิริเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 100 ล้านบาท ผ่านนวัตกรรมทางการเงิน ด้วยการ “ออกหุ้นกู้เพื่อลงทุนทางการศึกษา” ถือเป็น ภาคเอกชนรายแรก และยังผลักดันรูปแบบการศึกษายืดหยุ่น “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ได้แก่ การเรียนในระบบ, นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเป็นทางเลือกทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจากอุปสรรคต่างๆ
การที่ ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย รวมถึงหาก พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ มีผลบังคับใช้ย่อมส่งดีต่อการผลักดันโครงการ “Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ให้สามารถจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนได้ด้วยตนเองและยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เปิดโอกาสออกแบบหลักสูตรการศึกษา โดยบูรณาการองค์ความรู้พื้นบ้าน และหลักสูตรแกนกลางโดยคนท้องถิ่น จะช่วยให้สามารถจัดสรรเนื้อหาการเรียนที่เข้ากับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้เหมาะสม และช่วยให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ถูกด้อยค่าหรือสูญหาย ที่สำคัญยังเป็นการแก้ปัญหาสังคม และสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพเป็นอีกกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ