4 องค์กรรัฐและเอกชน ร่วมลงนาม MOU ผนึกกำลังยกระดับความรู้ทางการเงินให้ผู้ส่งต่อความรู้ในระบบการศึกษา
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ในการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา ตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษาครู ครู ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ส่งต่อความรู้ ผลักดันให้คนไทยมีสุขภาวะทางการเงินที่ดี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567
สำหรับการร่วมลงนาม MOU ในครั้งนี้ ซึ่งมีพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติเป็นประธานในพิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน โดยการผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา รวมถึงพัฒนานิสิตนักศึกษาครู ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา ในด้านความฉลาดรู้ทางการเงินและสามารถส่งต่อความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้นการศึกษา ให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม มีค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นจนเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในชุมชนทางการศึกษานั้น ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงทางการเงินที่จะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของประชาชนคนไทย (Financial Well-being) ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว (Financial Well-Being) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจ และบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. โดยเมื่อปี 2566 ก.ล.ต. ได้พัฒนาหลักสูตรต้นแบบความรู้การเงินการลงทุน (หลักสูตรต้นแบบฯ) และนำไปใช้ในกิจกรรมลงพื้นที่ให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาและคนวัยทำงานตลอดทั้งปี 2567 ใน 5 ภูมิภาค เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 7,500 คน ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้การเงินการลงทุนเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ก.ล.ต. จึงได้ต่อยอดขยายผลหลักสูตรต้นแบบฯ ในรูปแบบ E-Learning ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ใช้งานได้ในเดือนพฤษภาคม 2568
ก.ล.ต. รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่การพัฒนา E-Learning หลักสูตรต้นแบบฯ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างผู้ส่งต่อความรู้ด้านการเงินการลงทุน (Financial Literacy) ในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการวางรากฐานทักษะความรู้จำเป็นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกช่วงชีวิต เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะทางการเงินที่ดีในระยะยาว”