ตลาดแรงงานยอมรับบัณฑิตมทร.ธัญบุรี ตัวเลขการมีงานทำไม่น่าห่วง

ตลาดแรงงานยอมรับบัณฑิตมทร.ธัญบุรี ตัวเลขการมีงานทำไม่น่าห่วง

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีการเก็บรวบรวมสถิติการมีงานทำของบัณฑิตที่จบการศึกษา โดยมีบัณฑิตที่จบการศึกษาทั้งสิ้น 5,384 คน กรอกข้อมูล 3,497 คน คิดเป็น 64.95% และจากจำนวนบัณฑิตที่กรอกข้อมูลพบว่า มีงานทำถึง 2,352 คน รองาน 1,161 คน ศึกษาต่อ 83 คน ทั้งนี้คณะที่มีบัณฑิตมีงานทำมากที่สุด 3 อันดับแรก จัดอันดับตามสัดส่วนของผู้เข้ากรอกข้อมูล ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ 91.55 % คณะการแพทย์บูรณาการ 83.33% และคณะเทคโนโลยีการเกษตร 80.25%

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มหาวิทยาลัยได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนที่บัณฑิตเข้าทำงาน พบว่า บัณฑิตจากคณะพยาบาล มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000 บาท คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 22,500 บาท โดยบัณฑิตส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยจะทำงานในบริษัทเอกชน 64% ข้าราชการ 11% กิจการครอบครัว 4.8% อาชีพอิสระ 4.2% และรัฐวิสาหกิจ 3% ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งมทร.ธัญบุรีได้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เป็นโชคดีที่มทร.ธัญบุรีมองเห็นถึงโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการปรับหลักสูตรจะมีการจัดการเรียนการสอน ที่พัฒนาร่วมกับสถานประกอบการ ทำให้บัณฑิตมีทักษะตรงความต้องการของตลาด ประกอบกับหลักสูตรนี้ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกสหกิจศึกษาในสถานประกอบการนานถึง 4 เดือน ทำให้มีความพร้อมในการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา ส่งผลให้มีอัตราการมีงานทำที่สูงและเงินเดือนที่ดี

รักษาการอธิบการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า จากการสังเกตตัวเลขการมีงานทำและสถานการณ์ตลาดแรงงาน พบว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอาหาร มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของ Smart Farm ได้รับความสนใจจากนักศึกษาในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกับเจนเนอเรชั่นของเด็กในยุคนี้ที่มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการเอง นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น Automation ระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถเริ่มต้นการทำงานได้เองผ่านการรันโปรแกรมที่วางเอาไว้ เพื่อช่วยในการควบคุม สั่งงาน หรือรับคำสั่งงานต่างๆ Robotics การพัฒนาการองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมบริการ และดิจิทัล เทคโนโลยี ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานคุณภาพสูง และมทร.ธัญบุรีก็พร้อมที่พัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพที่พร้อมจะทำงานตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ