มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เดินหน้าผลักดัน การศึกษา งานวิจัย และโครงการด้านเภสัชศาสตร์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 มอบทุนประจำปี 2567 มูลค่า 2,547,500 บาท
มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อจัดมอบทุนให้กับการศึกษา งานวิจัย และโครงการด้านเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นของคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ บุตรชายเพียงคนเดียวของ ภก.ดร.เกษม และ คุณทับทิม ปังศรีวงศ์ ซึ่งต้องการตอบแทนพระคุณและสืบสานปณิธานอันแน่วแน่ของบิดา หนึ่งในปูชนียบุคคลผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
มูลนิธิฯ เกิดขึ้นด้วยทุนเริ่มต้นจำนวน 100 ล้านบาท โดยมีกำหนดมอบเงินทุนทั้งหมดนี้ภายในระยะเวลา 20 ปี โดยจัดมอบทุนเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ประกอบด้วยทุน 5 หมวด ได้แก่ ทุนการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์แก่นักศึกษาที่ตั้งใจเรียนแต่ขาดทุนทรัพย์, ทุนอบรมวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม, ทุนสนับสนุนการวิจัย, ทุนสนับสนุนการประชุมวิชาการ, ทุนสนับสนุนการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม และอบรมระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ และทุนสนับสนุนด้านอื่น ๆ ทางเภสัชศาสตร์
คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้จัดมอบทุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยไม่มีข้อผูกมัด โดยในปี พ.ศ.2567 ได้จัดพิธีมอบทุนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ รวมทั้งทุนสนับสนุนโครงการงานวิจัย จำนวน 58 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,547,500 บาท ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ผ่านระบบ Online Webinar และโอนเงินทุนสนับสนุนฯ เข้าบัญชีธนาคารของผู้ที่ได้รับทุนทุกท่าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับมอบทุน
คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ที่ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่แวดวงเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย “หนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราต้องการให้ผู้ที่กำลังศึกษาในสาขาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้และวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย เพื่อสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในด้านการดูแลสุขภาพและการพัฒนายาที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับสังคม ผมหวังว่าทุนสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ได้มอบให้ในแต่ละปีนั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ การเข้าถึงทรัพยากร และการสนับสนุนที่จำเป็นในการดำเนินการวิจัยที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงแค่จะช่วยให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ ในการรักษาผู้ป่วย แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่มีประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต และจะช่วยยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยต่อไป”
ด้าน เภสัชกร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล กรรมการบริหารมูลนิธิฯ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับมอบทุนฯ ในปี 2567 นี้ว่า “ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตของวงการเภสัชศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้คนในสังคมได้ นับเป็นก้าวสำคัญในการค้นพบหรือพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถพลิกโฉมวงการเภสัชศาสตร์และการรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น สมกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิชาชีพเภสัชกรรมทุกสาขาให้มีความเจริญก้าวหน้า ผมขอขอบคุณท่านประธานมูลนิธิฯ กรรมการบริหาร และคณะอนุกรรมการที่ให้ความกรุณาและช่วยเหลือให้การดำเนินงานของมูลนิธิเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วยดีเสมอมา”
ทั้งนี้ พิธีมอบทุนการศึกษา งานวิจัย และโครงการด้านเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2567 มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้รับเกียรติจาก เภสัชกร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล พร้อมทั้ง คุณธีรวัลคุ์ และคุณพงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวงศ์ เป็นตัวแทนคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ร่วมเป็นประธานในการมอบทุนฯ ยอดเงินรวม 2,547,500 บาท
เกียรติประวัติ ภก.ดร.เกษม ปังศรีวงศ์ เภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จปริญญาโทเภสัชศาสตร์ (Master of Science in Pharmacy) จากต่างประเทศ (Philadelphia College of Pharmacy and Science) ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในวิชาชีพเภสัชศาสตร์ และมุ่งมั่นในการวางรากฐานพร้อมบูรณาการวงการเภสัชกรรมแบบครบวงจร อีกทั้งยังสร้างคุณูปการต่อวิชาชีพเภสัชกรรมในหลากหลายด้าน อาทิ เป็นผู้สร้างรากฐานการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ในขณะนั้น อาจารย์เกษมได้ร่วมกับ ศ.ชลอ โสฬสจินดา และเภสัชกรอาวุโสบางท่าน เข้าพบ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เพื่อขอให้ท่านช่วยติดต่อกับรัฐบาล พร้อมกันนั้นได้ยื่นหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อขอปรับปรุงแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ
จากหลักสูตรเภสัชศาสตร์เดิมซึ่งใช้เวลาเรียน 3 ปี เรียนอยู่ในห้องขนาดเล็ก 2 ห้อง ติดกับห้องผสมยาและจ่ายยาของโรงพยาบาลศิริราช และผู้จบการศึกษาได้รับเพียงประกาศนียบัตร ก็สามารถขยายหลักสูตรการศึกษาเป็น 4 ปีจนสำเร็จ โดยที่ผู้เรียนจะได้รับวุฒิปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต ขอใช้สีเขียวมะกอกเป็นสีประจำแผนก และก่อสร้างตึกเรียนตึกแรกของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์เกษมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างหลักสูตรวิชาเภสัชอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตยาระดับอุตสาหกรรม ท่านจึงเลือกศึกษาวิชาเภสัชอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเภสัชกรที่สามารถดำเนินการผลิตยาขั้นอุตสาหกรรมได้ แม้ว่าประเทศไทยในเวลานั้นยังไม่มีโรงงานผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมได้แม้แต่แห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์จำลอง สุวคนธ์ ได้เป็นผู้จัดทำหลักสูตรและสอนวิชาเภสัชอุตสาหกรรมแทน เนื่องจากอาจารย์เกษมต้องรับภาระดำเนินธุรกิจของครอบครัวแต่ท่านก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย อีกทั้งยังมองเห็นการณ์ไกลโดยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตยาชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างโรงงานเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ และนับเป็นบริษัทแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐบาล นอกจากนี้ อาจารย์เกษมได้พยายามสร้างความยอมรับและเครือข่ายวิชาชีพเภสัชศาสตร์กับวิชาชีพอื่น ๆ ในแวดวงสาธารณสุข โดยได้ร่วมกับคุณพิชัย รัตตกุล ก่อตั้งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกในปี พ.ศ. 2512 เพื่อยกระดับวิชาชีพและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตเภสัชกรรม รวมทั้งได้มีบทบาทช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย อาทิ ดำรงตำแหน่งนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2489 มีส่วนช่วยงานสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2519 ดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2503 – 2507 และเป็นกรรมการมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2507 โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิยาวนานกว่า 10 สมัย ฯลฯ
ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจารย์เกษมได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในปี พ.ศ. 2497 และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ในปี พ.ศ. 2502 รวมถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2505
มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้จัดพิธีมอบทุน ประจำปี 2567 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 58 ทุน/โครงการ คิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 2,547,500 บาท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- หมวด 01 ทุนการศึกษา/ทุนการฝึกอบรม
- ประเภท ก. นักศึกษาระดับ ปริญญาตรี 20 สถาบัน สถาบันละ 2 ทุน รวม 40 ทุน ทุนละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท
- ประเภท ข. ทุนอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลักสูตรวิทยาลัยเภสัชบำบัด 1 ทุน อบรมผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ “สาขาเภสัชบำบัด ด้านกุมารเวชกรรม” มอบให้ ภก.พงศธร พงษ์จันโอ ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลชลบุรี เป็นเงิน 60,000 บาท
- หมวด 02 ทุนสนับสนุนการวิจัย
- 2.1 โครงการงานวิจัย “การพัฒนาอุปกรณ์ความแม่นยำในการปรับปริมาตรยาน้ำเด็กสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา” มอบให้ ภญ.พนาวัลย์ ศรีสุวรรณภพ เภสัชกรชำนาญการฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก เป็นเงิน 21,000 บาท
- 2.2 โครงการงานวิจัย “ผลของโปรแกรมการให้คำปรึกษาและติดตามการใช้ยาทางไกลในผู้ป่วยวัณโรค” (วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท) มอบให้ ภญ.นภาพักตร์ โยธารักษ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเงิน 20,000 บาท
- 2.3 โครงการงานวิจัย “การศึกษาพหุสถาบันการติดเชื้อราแคนดิดาในกระแสเลือดใน รพ.ตติยภูมิในประเทศไทย: ผลลัพธ์ทางคลินิก, ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต, ความไวของยาต้านเชื้อรา และการทำนายขนาดยากลุ่มเอโคโนแคนดินที่เหมาะสมในผู้ป่วยวิกฤติ โดยอาศัยการจำลอง Monte Carlo” มอบให้ ภญ.จุฑารัตน์ วัชรสุวรรณเสรี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเงิน 100,000 บาท
- 2.4 โครงการงานวิจัย “ภาวะพหุสัณฐานของยีนและตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา” (วิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก) มอบให้ ผศ.ภญ.ฐาปนี ใจปินตา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเงิน 50,000 บาท
- 2.5 โครงการงานวิจัย “ประสิทธิภาพของสมการประมาณค่าการทำงานของไตในการประเมินการกำจัดยาอะมิโนไกลโคไซด์ในประชากรไทย” มอบให้ ผศ.ภญ. สิริมา สิตะรุโน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 15,000 บาท
- 2.6 โครงการงานวิจัย “การศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้ยาโคลชิซินในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดระดับปฐมภูมิในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” มอบให้ ดร.ภญ.พิรณี แก้วบุตร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเงิน 30,000 บาท
- 2.7 โครงการงานวิจัย “การพัฒนาวิธีวิเคราะห์ยาแบบสีเขียวและยั่งยืนโดยใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ผลิตในประเทศไทย” มอบให้ ดร.ภก.ธีรศักดิ์ โรจนราธา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเงิน 30,000 บาท
- 2.8 โครงการงานวิจัย “เภสัชจลนศาสตร์ของยาแวนโคมัยซินในผู้ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่องชนิด CWHDF และใช้ตัวกรองดูดซับชนิด oXiris” มอบให้ ภก.ชิดตะวัน หิรัญสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงิน 35,000 บาท
- 2.9 โครงการงานวิจัย “ความถี่ในการนัดติดตามผู้ป่วยโรคความผิดปกติของไขกระดูกกลุ่มยา Myeloproliferative Neoplasms (MPNs) ที่เหมาะสม สำหรับควบคุมโรค, ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ และต้นทุนทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย” มอบให้ ผศ.ดร.ภญ.พิมพ์วรา ตันเวชศิลป์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 100,000 บาท
- 2.10 โครงการงานวิจัย “ศึกษาความชุกของการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ปริมาณการสั่งใช้ยาต้านจุลชีพ และแนวทางการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล” มอบให้ ภก.อุกฤษฏ์ สิทธิบุศย์ (นักศึกษา ปริญญาเอก) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงิน 60,000 บาท
- หมวด 03 ทุนสนับสนุนงานประชุมวิชาการ
- 3.1 โครงการ “ประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference & Exhibition on Pharmaceutical Sciences and Technology 2024 (PST2024) มอบให้ รศ.ดร.ภก.ทรงวุฒิ ยศวิมลวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเงิน 100,000 บาท
- 3.2 โครงการ “เภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2567” มอบให้ ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.ภญ.กรแก้ว จันทภาษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเงิน 250,000 บาท
- 3.3 โครงการ The 4th ASEAN PharmNET 2024 & 2024 US-THAI Pharmacy Consortium มอบให้ ผศ.ดร.ภญ.สมหญิง พุ่มทอง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงิน 100,000 บาท
- หมวด 04 ทุนสนับสนุนการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม และอบรมระยะสั้นใน /ต่างประเทศ
- 4.1 อบรมหลักสูตรระยะสั้นเชิงปฏิบัติการด้านโภชนาศาสตร์คลินิกและทางหลอดเลือดดำ ณ ประเทศโปแลนด์ ระหว่าง 13-19 ตุลาคม 2567 มอบให้ ภญ.ธิตินันท์ รักษ์หนู เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นเงิน 26,500 บาท
- หมวด 05 ทุนสนับสนุนอื่น ๆ ด้านเภสัชศาสตร์
- 5.1 โครงการ “ค่ายหมอยาสร้างเสริมสุขภาพและเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 20 ณ จังหวัดสุพรรณบุรี มอบให้นางสาวชยาภา คะประสิทธิ์ ประธานโครงการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นเงิน 50,000 บาท
- 5.2 โครงการ The 23rd Asia Pacific Pharmaceutical Symposium (APPS)Thailand 2024 มอบให้ นางสาวชวัลญา ธำรงลีฬหา ประธานโครงการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นเงิน 100,000 บาท
- 5.3 โครงการเสริมสร้างเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญสาขา “เภสัชกรรมชุมชน” มอบให้ ผศ.ดร.ภก.สุรสิทธิ์ ล้อจิตรอำนวย เลขาธิการวิทยาลัยเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นเงิน 200,000 บาท
มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้มอบทุนสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- 2560 รวม 23 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 3,831,000 บาท
- 2561 รวม 42 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 3,944,400 บาท
- 2562 รวม 49 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 3,637,265 บาท
- 2563 รวม 58 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท
- 2564 รวม 48 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,402,354 บาท
- 2565 รวม 60 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,420,100 บาท
- 2566 รวม 50 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,346,400 บาท
- 2567 รวม 58 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,547,500 บาท
รวม 388 ทุน/โครงการ ยอดรวม 8 ปี 23,129,019 บาท
มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เปิดให้นักศึกษาและเภสัชกรที่สนใจยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนด้านเภสัชศาสตร์ ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ doctorkasem-foundation.org หรือติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ 02 253 0178-81 ต่อ 308 หรืออีเมล [email protected]