มทร.ล้านนา ตั้งเป้าพัฒนา-ผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ
มทร.ล้านนา ตั้งเป้าพัฒนา-ผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ชู 4 พอร์ตการลงทุน เน้นปรับหลักสูตรทันสมัย เปิดหลักสูตรใหม่เท่าทันตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ ยกระดับพนักงาน บุคลากรในสถานประกอบการผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผลิตนักศึกษา-บุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นสตาร์ทอัพ เปิดบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า การผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์กับความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือและประเทศนั้น มทร.ล้านนา ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)ในการดำเนินโครงการ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มอุทยานนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ซึ่งได้มีการกำหนดแผนการพัฒนาและผลิตนักศึกษาไว้เสมือนกับการลงทุน หรือพอร์ตการลงทุน เพราะมหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนกับองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้แสวงหากำไรแต่ต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายในหรือค่าเล่าเรียน และปัจจัยภายนอก อย่างงบประมาณแผ่น การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน
รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อว่า มทร.ล้านนา ได้กำหนดการผลิตนักศึกษา 4 พอร์ตการลงทุน ได้แก่ พอร์ตการลงทุนที่ 1 จะเป็นการพัฒนาตลาดเดิมบริการเดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ให้ทันสมัย ตอบรับความต้องการของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปสช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมถึงหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพกำหนด และตลาดแรงงานทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและของประเทศ พอร์ตการลงทุนที่ 2 ผลิตนักศึกษารองรับตลาดใหม่ๆ อย่างหลักสูตรที่สามารถนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ อาทิ วิศวกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อให้บุคลากรที่เรียนจบไปแล้ว สามารถเพิ่มเติม พัฒนาทักษะตนเอง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น ความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทสยามมิชลิน จำกัด หรือ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นต้น พอร์ตการลงทุนที่ 3 ยกระดับSME หรือนักธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มีบริษัทของตนเองอยู่แล้ว และต้องการทรานฟอร์มธุรกิจให้เติบโตก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น เช่น ธุรกิจชาที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เมื่อมาถึงรุ่นลูกต้องมีการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ และพอร์ตการลงทุนที่ 4 พัฒนานักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นสตาร์ทอัพ (Startup) หรือ เปิดบริษัท มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะช่วยผลักดัน ลงทุนด้วยฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
“มหาวิทยาลัยมีการสำรวจถึงแนวโน้มความต้องการกำลังคนในอนาคต ซึ่งไม่ได้เพียงตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือเท่านั้น แต่ 4 พอร์ตการลงทุนนี้จะผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของประเทศร่วมด้วย เพราะต่อให้ มทร.ล้านนา ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัด แต่การพัฒนาผลิตบัณฑิต และเพิ่มเติมทักษะ ส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ต้องเป็นการยกระดับพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในพื้นที่ร่วมด้วย และแก้ปัญหาในชุมชน สร้างนวัตกรรมทั้งการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหาร การจัดการป่า และงานคราฟ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ฉะนั้น ทุกคณะทุกวิทยาลัยของมทร.ล้านนา นักศึกษาและบุคลากรทั้ง 20,000 กว่าคนของมหาวิทยาลัยจะขับเคลื่อนไปตามเป้าหมายเดียวกัน” รศ.ดร.อุเทน กล่าว