‘จุฬาฯ’ จับมือ ‘ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์’ วิจัยและพัฒนาการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ แก้ปัญหาโลกร้อน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมมือกับ บริษัท ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต การรวบรวมและการประมวลผลข้อมูลด้านคาร์บอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมกับเครือข่ายนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเร่งศักยภาพในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสำเร็จ
วิกฤตสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบให้หลายประเทศกำลังเผชิญกับอากาศร้อนจัด และเสี่ยงมากขึ้นต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากในอดีตนั้นมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเกิดความตกลงร่วมกันที่การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาระส่วนหนึ่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีดังกล่าว และได้กำหนดว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ ทั่วโลกยังมีมาตรการระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงส่งผลให้หลายภาคส่วนของประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมและเริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันบ้างแล้วในปัจจุบัน
ด้วยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เป็นเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านปิโตรเคมีและวัสดุศาสตร์ มีนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และผลงานวิจัยจำนวนมากในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งยังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ขณะเดียวกัน บริษัท ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจชั้นนำในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงมีบริการส่งเสริมให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านระบบการทำงานเป็นรูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ สองฝ่ายเห็นความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพร้อมสนับสนุนนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและงบประมาณในการศึกษาวิจัยและพัฒนา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือครั้งนี้
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ได้จัดขึ้นในวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้อง 705/2 ชั้น 7 อาคารวิจัยจุฬาฯ โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการ PETROMAT ได้ลงนามร่วมกับนายอธิพร ลิ่มเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ ด้วยมุ่งหมายที่จะยกระดับการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมสร้างอนาคตประเทศไทยให้สอดคล้องกับนานาชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อโลกที่ยั่งยืน