ครุศาสตร์ มบส. MOU สสวท. และโรงเรียนในเครือข่ายพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษาวิชาชีพครู
ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบหมายให้ดร.นัยนพัศ อินจวงจิรกิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มบส. พร้อมด้วยรศ. ดร.บุญมี กวินเสกสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.เพ็ญพร ทองคำสุก คณบดีคณะครุศาสตร์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum Of Understanding) ในการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษาวิชาชีพครู เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ และการอำนวยการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง
ด้านดร.เพ็ญพร กล่าวว่า นอกจากนี้คณะครุศาสตร์ มบส. ยังได้MOU กับโรงเรียนในเครือข่าย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออู่ทอง อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอดอนเจดีย์ จำนวน 132 โรงเรียนที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 และโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร โดยมีสาระสำคัญคณะครุศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา ดูแล และช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งมีข้อตกลงและหลักการความร่วมมือ ดังนี้ 1. สร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การยกระดับสัมฤทธิผลของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน2. สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดเข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก และโครงการพัฒนานวัตกรทางการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้สมรรถนะเป็นฐานตามนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษา
ดร.เพ็ญพร กล่าวต่อไปว่า 3. พัฒนาสมรรถนะผู้บริหารด้านการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและสมรรถนะวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่ครูมืออาชีพ โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) 4. สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) ตามแนวทางการประเมิน PISA รวมทั้งการจัดค่ายพัฒนาทักษะด้านพหุปัญญาให้แก่นักเรียน 5. สนับสนุนและส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ รูปแบบ ผลการดำเนินงานสู่การตีพิมพ์ผลงานวิชาการและวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดถึงการจดอนุสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ของนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันและ 6. สนับสนุนและส่งเสริมข้อมูล/สารสนเทศของโรงเรียนให้แก่คณะครุศาสตร์ เพื่อใช้ช่วยเหลือการบริหารและตัดสินใจต่อการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพทางการศึกษา