CIBA DPU ปลื้ม นศ.ป.ตรี-ป.โท ทุบสถิติ ! คว้าทุนสอบขอใบอนุญาต IC Plain จำนวนมากที่สุดใน DPU ตั้งแต่เริ่มดำเนินหลักสูตร

CIBA DPU ปลื้ม นศ.ป.ตรี-ป.โท ทุบสถิติ ! คว้าทุนสอบขอใบอนุญาต IC Plain จำนวนมากที่สุดใน DPU ตั้งแต่เริ่มดำเนินหลักสูตร

นศ.ป.ตรี-ป.โท CIBA DPU เจ๋ง! ทุบสถิติ ! คว้าทุนในการสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จำนวน 17 คน คิดเป็น 52% จากจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าโครงการสนับสนุนทุนสอบผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป IC plain  พร้อมติวเข้ม เทรนก่อนสอบ สนับสนุนและหวังผลเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาอยากสอบขอใบอนุญาตในระดับที่สูงขึ้น เช่น AISA  , CISA และ  CFP  เพิ่มโอกาสการทำงาน ระบุนักการเงินและการลงทุนรุ่นใหม่ต้องมีใบอนุญาตในวิชาชีพการเงิน การลงทุน

นางเพียรใจ โพธิ์ถาวร อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (วิชาเอกการเงิน เทคโนโลยีการเงิน และการลงทุน) วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการเงิน เทคโนโลยีการเงิน และการลงทุน และนักศึกษาปริญญาโท MBA (บริหารธุรกิจ) CIBA DPU  จำนวน 33 คน ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ สนับสนุนทุนสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไปสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการที่ทางสถาบันฝึกอบรม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ATI-ASCO Training Institute)  จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมระบบการเรียนออนไลน์ 22 ชั่วโมง และมีสิทธิ์สอบเข้าสอบ IC Plain โดยทางหลักสูตรภายใต้การสนับสนุนของ CIBA ได้เข้าร่วมโครงการนี้มาเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยการเข้าร่วมโครงการในปีนี้ ทางศูนย์ทดสอบ ATI มีการเพิ่มเติมในการจัดอบรมเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อได้รับทุนสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป IC Plain ซึ่งสามารถนำไปขึ้นทะเบียนใบอนุญาต IC Plain ได้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งปีนี้มีนักศึกษา CIBA ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโทเข้าร่วมโครงการ จำนวน 33 คน แบ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท MBA 8 คน และนักศึกษาปริญญาตรี สาขาการเงิน 25 คน  พบว่า มีนักศึกษาสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการสนับสนุนทุนสอบผู้แนะนำการลงทุนสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สำหรับตราสารทั่วไป  IC Plain  จำนวน 17 คน  จากนักศึกษาที่เข้าสอบ 33 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในการเข้าสอบตั้งแต่มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ

นางเพียรใจ กล่าวต่อว่า นักศึกษาที่สอบผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้จะได้รับการทบทวนเนื้อหาผ่านตำรา E-Book และศึกษาเนื้อหาในระบบ E-Learning ของ ATI แบบ Full Course IC Plain และที่เพิ่มเติมมาล่าสุดในปีนี้คือ การเข้าร่วมอบรมติวตะลุยโจทย์ IC Plain โดยจะได้รับทุนสนับสนุนในการสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป IC Plain จำนวน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษามีการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวเข้าสู่การสอบใบอนุญาตในสายวิชาชีพการเงิน การลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันการสร้างและการสรรหาบุคลากรด้านผู้แนะนำการลงทุนกำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มจำนวนนักลงทุนและกองทุนรวมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าทำงานในสายวิชาชีพการเงินการลงทุนได้อย่างมั่นใจ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าโครงการไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนในฐานะนักลงทุนมือใหม่ได้

          “เท่าที่ผ่านมา นักศึกษาจะมีความกังวลและตื่นเต้นเมื่อต้องเข้าสอบใบอนุญาต เพราะเนื้อหาในการสอบจะครอบคลุมรายละเอียดในทุกรายวิชาเอก จึงต้องอาศัยความอดทนและความพยายามเป็นอย่างมาก ทำให้หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานที่แม่นยำเพื่อเตรียมตัวในการสอบใบอนุญาติครั้งนี้อย่างมั่นใจ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนออนไลน์ 22 ชม.ที่ทางสถาบันฝึกอบรม ATI จัดให้แล้ว  อาจารย์ในหลักสูตรยังสามารถเข้าร่วมในทุกกิจกรรมของโครงการ เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการสอบใบอนุญาตในสายวิชาชีพการเงิน การลงทุน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ติดอาวุธให้แก่นักศึกษา เพราะเนื้อหาที่นักศึกษาที่ต้องใช้ในการสอบจำเป็นต้องใช้เนื้อหาในทุกรายวิชาเอกของหลักสูตร”นางเพียรใจ กล่าว

ในปีนี้ หลักสูตรมุ่งเน้นและส่งเสริมให้นักศึกษาในสาขาวิชาเอกการเงิน การลงทุนเข้าร่วมการสอบใบอนุญาตในสายวิชาชีพอย่างชัดเจน ผ่านการสนับสนุนในเรื่องของค่าใช้จ่ายและการเตรียมความพร้อมจาก CIBA DPU รวมถึงมีการลงนามความร่วมมือ MOU กับสถาบันการเงินและการลงทุนชั้นนำในประเทศไทยเป็นจำนวนมากทั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในด้านการสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมการปฏิบัติงานในสายงานการเงินการลงทุน ผ่านโครงการสหกิจศึกษาฯ CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) ในการรับนักศึกษาไปฝึกงาน จำนวน 6 เดือน และขยายต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มครั้งแรกในปีการศึกษา 2567 ทำให้นักศึกษาและบัณฑิตของหลักสูตรสามารถได้งานในทันทีเมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ตลอดจนสถานประกอบการจะเกิดความมั่นใจการรับบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยอีกด้วย

หลักสูตรยังคงดำเนินการโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและพยายามมุ่งเน้นให้มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นภายใต้การสนับสนุนที่เข้มแข็งของ CIBA DPU เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และสามารถเข้าปฎิบัติงานในสถานประกอบการด้วยใบประกอบวิชาชีพการเงินการลงทุนเพิ่มเติม เช่น การวางแผนการบริหารความมั่งคั่งทางการเงิน กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้มีองค์ความรู้ในการบริหารเงินของตนเอง และวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ