สอศ.ร่วมมือกับจีน จัดทำหลักสูตรดิจิทัล (บทเรียนออนไลน์) นำร่อง 20 สาขาวิชาชีพในศูนย์ CVM สอดรับวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ร่วมกับบริษัทการศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป (ประเทศจีน) และบริษัท ถังฟง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาครูผ่านบทเรียนออนไลน์ (Micro Learning)” โดยมีดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ร่วมกับ มร.หลี่ จิ้นซง ประธานบริษัทการศึกษานานาชาติกรุ๊ป เป็นประธานเปิด และมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาของจีน คุณอรุณี จักตรีย์มงคล ประธานบริษัท ถังฟง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด และครูผู้สอนจากสถานศึกษาศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) 20 สาขาวิชาชีพ ผู้แทนสำนัก/หน่วย/ศูนย์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 60 คน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ 20 สาขาวิชาชีพจากประเทศจีน ทางระบบ Online รวมทั้งสิ้น 300 คน เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งการประชุมฯจัดระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2566 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร
ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ถังฟง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนและอาชีพในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาในสังกัด สอศ. ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมแต่ละสาขาอาชีพในภาคการผลิตและ การบริการ โดยสาระสำคัญหนึ่งคือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อดิจิทัลด้านภาษาและอาชีพสำหรับใช้ในการพัฒนาครูและนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา จึงได้ดำเนินการ “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาครูผ่านบทเรียนออนไลน์ (Micro Learning)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รายละเอียดเนื้อหาของหลักสูตรพร้อมกับชี้แจงความแตกต่างของหลักสูตรการเรียนการสอน ในสาขาวิชานำร่อง 20 สาขา เพื่อที่จะกำหนดกรอบมาตรฐานของหลักสูตรในแต่ละสาขาร่วมกันให้มีความสอดคล้องกับสาขาวิชา/สาขางานของ CVM และเชื่อมโยงกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของสอศ.
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปอีกว่า ภายหลังจากการประชุมกันในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่าย จะร่วมกันกำหนดกรอบมาตรฐานของหลักสูตรในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตามสภาพความเป็นจริงของอาชีวศึกษาไทยในปัจจุบัน และยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทย ตลอดจนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างระบบอาชีวศึกษาที่ทันยุคสมัยในศตวรรษที่ 21 ตอบสนองความต้องการกำลังคนอาชีวศึกษาในภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป
ทั้งนี้ สอศ. ได้กำหนดนำร่องและดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ (1) สาขาวิชาสาขาวิชาเทคนิคการผลิต ดำเนินการโดยวิทยาลัยเทคนิค(วท.)สมุทรสงคราม (2) สาขาวิชาเทคนิคพลังงาน ดำเนินการโดย วท.ชัยภูมิ (3) สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล (สาขางานอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า) ดำเนินการโดย วท. กฟผ.แม่เมาะ (4) สาขาวิชาช่างก่อสร้าง ดำเนินการโดย วท.สระแก้ว (5) สาขาวิชาเทคนิคเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ดำเนินการโดย วท. ราชสิทธาราม (6) สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ดำเนินการโดย วท. สัตหีบ (7) สาขาวิชาช่างอากาศยาน ดำเนินการโดย วท. อุบลราชธานี และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น (8) สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า ดำเนินการโดย วท.ชลบุรี และวท.ฉะเชิงเทรา (9) สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง ดำเนินการโดย วท.ชลบุรี (10) สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการโดย วท.นครนายก (11) สาขาวิชาปิโตรเคมี ดำเนินการโดย วท.มาบตาพุด (12) สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี ดำเนินการโดย กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง (13) สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ดำเนินการโดย วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) ฉะเชิงเทรา (14) สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ดำเนินการโดย วอศ.อุดรธานี(15) สาขาวิชาการท่องเที่ยว ดำเนินการโดย วอศ.เชียงราย (16) สาขาวิชาการโรงแรม ดำเนินการโดย วอศ.ภูเก็ต (17) สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ดำเนินการโดย วษท.เชียงใหม่ (18) สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดำเนินการโดย วิทยาลังประมงติณสูลานนท์ (19) สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ดำเนินการโดย วิทยาลัยพณิชยการ (วพ.) ธนบุรี และ (20) ภาษาจีน ดำเนินการโดย วพ.ธนบุรี
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา