กลุ่ม KTIS มุ่งพัฒนาเยาวชน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอาเซียน ผู้ร่วมแข่งขัน 2,353 คน
กลุ่ม KTIS สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมเยาวชน หวังสร้างความตื่นตัวและความสนใจแก่เยาวชนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอาเซียน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน โดยมีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เผยได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีทีมเข้าแข่งขันถึง 588 ทีม จำนวนผู้เข้าแข่งขันรวม 2,353 คน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันกีฬาอี-สปอร์ต โดยมีทีมเข้าแข่งขัน 47 ทีม จำนวนผู้เข้าแข่งขัน 376 คน
ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์และใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศชาติทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยเห็นว่าจะต้องมีการส่งเสริมตั้งแต่ระดับเยาวชน ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงได้รับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอาเซียนชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (CPU’1 st ASEAN GRAND PRIX YOUTH ROBOTIC COMPETITION 2023) เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์
ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวมีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย ชมรมวิทยาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สมาคมอีสปอร์ตจังหวัดนครสวรรค์ สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ไปจนถึงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในต่างประเทศ อาทิ Hue Industrial College (HUEIC) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม,The University of Technology and Education, University of Danang (UTE-UD) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, Phu Xuan University สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม , Nueva Vizcaya State University สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ , International Robot Olympiad Committee สาธารณรัฐเกาหลี, Hong Kong Robotic Olympic Association (HKROA) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
ดร.ดารัตน์ กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอาเซียนในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักเรียนนักศึกษาที่มาจาก 53 จังหวัดทั่วประเทศ มีทีมเข้าแข่งขันในประเภทต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษารวม 588 ทีม จำนวนผู้เข้าแข่งขันรวม 2,353 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดการแข่งขันกีฬาอี-สปอร์ตซึ่งเป็นที่สนใจของเยาวชนในปัจจุบันในรายการแข่งขัน ROV E-Sport รุ่นทั่วไปเพิ่มเติมในงานนี้ด้วย ซึ่งมีทีมเข้าแข่งขัน 47 ทีมจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 376 คน ตลอดระยะเวลาในการจัดการแข่งขันมีประชาชน นักวิชาการ ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และผู้สนใจจากวงการต่างๆ ร่วมชมงานอย่างคับคั่งกว่า 3,000 คน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอาเซียนในครั้งนี้ได้มีแนวคิดในการเชื่อมโยงโจทย์การแข่งขันกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างความตื่นตัวและความสนใจแก่เยาวชนสู่โลกของภาคธุรกิจด้วย เช่น โจทย์การแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือ (KTIS) ประเภทต่างๆ ทั้งในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับอุดมศึกษา และในโจทย์การแข่งหุ่นยนต์อัตโนมัติ (KTIS) ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้ขนย้ายวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายไปยังจุดที่กำหนดไว้
“เคทิส กรุ๊ป (KTIS GROUP) ขอชื่นชมกำลังหลักในการจัดงาน คือมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาและภาคีเครือข่าย ที่ผลักดันให้งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีความภูมิใจและมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการสร้างความสนใจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ของนักเรียนนักศึกษาทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและโลกของเราในระยะยาว” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว
ที่มา: ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์