ม.มหิดลวิจัยความหลากหลายทางจุลชีพ สู่การคิดค้นวิธีใหม่กำจัดวัชพืชด้วยธรรมชาติ
ไม่เพียงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อสรรพสิ่งสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่าง “จุลชีพ” ก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา บน “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่ทำให้เกิดได้ทั้งประโยชน์และโทษ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤษท์ หาญวรวงศ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของจุลชีพ ได้กล่าวถึง “ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ” (Natural Selection) ของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ “ชาร์ล ดาร์วิน” (Charles Darwin) ว่าใช้อธิบายถึงความหลากหลายของจุลชีพได้เช่นกัน ภายใต้หลักการ “ธรรมชาติจะคัดเลือกในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด”
ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จุลชีพจะสามารถปรับตัวไปตามสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันได้เสมอ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤษท์ หาญวรวงศ์ชัย ได้ศึกษาทั้งในจุลชีพก่อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการดื้อยา
และใช้ประโยชน์จากจุลชีพในด้านอื่นๆ อย่างหลากหลายจนพบว่าคุณสมบัติในการย่อยสลายของจุลชีพ สามารถนำไปใช้อธิบายข้อสังเกตของ “ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ดังกล่าวได้เช่นกัน
หนึ่งในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางจุลชีพที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤษท์ หาญวรวงศ์ชัย ได้มีส่วนร่วมศึกษาอยู่ ได้แก่ แนวคิดที่จะใช้จุลชีพในการควบคุมวัชพืชด้วยวิธีที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแล้วย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น
เมื่อเราได้ศึกษาจนรู้ว่าจุลชีพแบบใดสามารถจับคู่กับจุลชีพแบบใดเพื่อนำไปสู่การย่อยสลาย จะทำให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรได้ต่อไปอีกมากมาย
หากเราพยายามตั้งคำถามในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วพยายามมีส่วนร่วมกับสิ่งที่พบเจอ จะทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาต่อด้วยตัวเองนอกห้องเรียน
“วิชาชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัว ดังนั้นการศึกษาที่เปิดกว้าง โดยไม่จำกัดเพียงแต่ในห้องเรียน จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤษท์ หาญวรวงศ์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล