ม.มหิดลพร้อมผลิตป.โท’พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน’ดูแลสุขภาพองค์รวมประชาชนทุกช่วงวัย

ม.มหิดลพร้อมผลิตป.โท’พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน’ดูแลสุขภาพองค์รวมประชาชนทุกช่วงวัย

ทิศทางสาธารณสุขของประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน นับตั้งแต่เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน ที่พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พุทธศักราช 2562 มีผลบังคับใช้ เพื่อลดความแออัดของระบบโรงพยาบาล ส่งผลให้มีการกระจายอำนาจการดูแลสุขภาพประชาชนไปยังชุมชน จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่บทบาทของ “พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน” ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ทวีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปาหนัน พิชญภิญโญ ประธานหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน และอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของหลักสูตรว่าเกิดขึ้นเมื่อ 76 ปีก่อน พร้อมกับการก่อตั้งของคณะฯ ซึ่งเปรียบเหมือนรากฐานของการศึกษาด้านการสาธารณสุขในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย

โดยในระยะแรกใช้ชื่อหลักสูตรเป็นชื่อเดียวกับชื่อภาควิชาแต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน” และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในทุก 5 ปี จัดการเรียนการสอนตามทิศทางนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทย โดยในยุคแรกเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขอนามัย และสุขภาพทั่วไป มาถึงปัจจุบันได้มุ่งให้บริการสู่ระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลโรคเรื้อรัง และการดูแลสุขภาพองค์รวมสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัย

โดยทั่วไป “พยาบาลวิชาชีพ” (Licensed Nurse) เมื่อสำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน จากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลและขึ้นทะเบียนไว้ สามารถรักษาโรคเบื้องต้น หรือกลุ่มอาการ โดยมีข้อแตกต่างในทางปฏิบัติ ตามประกาศสภาการพยาบาล ตรงที่ “พยาบาลเวชปฏิบัติ” (Nurse Practitioners) สามารถรักษาโรค และใช้ยาได้ตามรายการและการวินิจฉัยสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรไทย เนื่องด้วยยังคงยืนยันเจตนารมณ์เพื่อการผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติชาวไทยที่มากด้วยคุณภาพ ออกไปรับใช้ชุมชนและประเทศชาติ โดยสามารถทำงานวิจัยที่ได้มาตรฐานนานาชาติ  และกำหนดให้จัดทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทยก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชากรชาวไทย

และเชื่อมั่นได้ถึงคุณภาพของหลักสูตรซึ่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยอาเซียน AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) พร้อมด้วยคณาจารย์พยาบาลของหลักสูตรฯ ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกร้อยละ 100

และคณาจารย์ถึงร้อยละ 80 ของหลักสูตรฯ สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา อาทิ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน(University of Wisconsin-Madison มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) มหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนา (University of North Carolina) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) มหาวิทยาลัยทูเลน(Tulane University) และมหาวิทยาลัยคาธอลิกแห่งอเมริกา(The Catholic University of America) เป็นต้น

ที่ผ่านมาได้มีการเทียบเคียงมาตรฐานการศึกษาระหว่างหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยในเอเชีย พบว่าหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีมาตรฐานใกล้เคียง (benchmark) กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน(National Taiwan University) ในสาขา Master of Science in Community Health Nursing

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนทุนวิจัยและรางวัลต่างๆ จากผลงานของนักศึกษาในหลักสูตรฯ ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นักศึกษาของหลักสูตรฯ สามารถคว้าทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแนวทางให้คำปรึกษาทางโทรเวชสำหรับลดภาวะน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และการดูแลให้คำปรึกษาเพื่อลดภาวะอ่อนล้าในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เป็นต้น

นับเป็นความโชคดีของนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับเงื่อนไขการศึกษาให้กระชับขึ้นเพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2 ปี โดยได้จัดให้มีการศึกษาในชั้นเรียน (Coursework) เพียงปีแรกปีเดียวเพื่อให้ปีต่อไป จะได้ใช้เวลาในการทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างเต็มที่ และจะได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงจากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมต้อนรับพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาพยาบาลในระดับปริญญาตรีจากทุกสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรฯ ขอเพียงมีความตั้งใจจริง และพร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยในเชิงรุก เพื่อทำให้นโยบายสาธารณสุขชาติ”ใกล้บ้านใกล้ใจ” สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ