ม.มหิดล-EdUHK เขตบริหารพิเศษฮ่องกง วิจัยพัฒนาการมนุษย์ ฝึกทักษะความจำเพื่อใช้งาน
ด้านหนึ่งที่สำคัญของการฝึกทักษะการคิดเชิงบริหาร (EF-Executive Functions) ตั้งแต่วัยเยาว์ คือ “การฝึกความจำเพื่อใช้งาน” (Working Memory) ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้และจดจำสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่าทักษะความจำเพื่อใช้งานมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ ภาคปกติและภาคพิเศษ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงความสำคัญของ “การฝึกความจำเพื่อใช้งาน” (Working Memory) ว่ามีความสำคัญต่อ “พัฒนาการมนุษย์”
ซึ่งแตกต่างจาก “ความฉลาดทางสติปัญญา” (IQ-Intelligence Quotient) ที่เป็นการแสดง “ค่าความสามารถในการเรียนรู้” ที่วัด “ความสามารถทางปัญญาที่ตกผลึกแล้ว” (Crystalized Intelligence) ซึ่งมักไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเลขได้
ในขณะที่ “การฝึกความจำเพื่อใช้งาน” (Working Memory) สามารถพัฒนาให้เห็นความก้าวหน้าผ่านการฝึกฝนได้เนื่องจาก Executive Functions คือความสามารถในการใช้สิ่งที่เรารู้แล้ว นำมาสร้างสรรค์ใหม่ หรือนำมาแก้ปัญหา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสามารถทางปัญญาที่เลื่อนไหล (Fluid Intelligence)
ซึ่ง “ความจำ” เป็นพื้นฐานสู่ “ความเข้าใจ” โดยทั่วไปเด็กจะจำได้ก่อน แล้วจึงเข้าใจตาม “ปิรามิดของการเรียนรู้” การเรียนรู้ที่พอดีโดยฝึกให้จำในสิ่งที่ใช้งานมากกว่าสิ่งที่ไม่ได้ใช้งาน จะทำให้เด็กไม่ต้องเหนื่อยล้ากับการใช้ความจำที่มากจนเกินไป
โดยการฝึกทักษะ “ความจำเพื่อใช้งาน” (Working Memory) สำหรับเด็ก สามารถเรียนรู้ได้จากทั้งการมองเห็น และการฟังซึ่งในส่วนของการฝึกทักษะการเรียนรู้จากการมองเห็นอาจฝึกโดยการเล่นเกมเปิดการ์ดรูปสัตว์ ให้เด็กจำภาพก่อนคว่ำลงแล้วถามถึงภาพที่อยู่บนการ์ดใบสุดท้าย ก่อนจะถามเพิ่มถึงการ์ดใบอื่นๆ
ส่วนฝึกทักษะการฟังสามารถทำได้โดยการเล่านิทานแบบปากเปล่า แล้วให้เด็กบอกชื่อ สี หรือจำนวนตัวละครหลังเล่าจบ เป็นต้น
จากการศึกษาวิจัยของสถาบันฯ นำโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ ดร.นุชนาฏ รักษี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา ร่วมกับ The Education University of Hongkong (EdUHK) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดย Professor LEE, Kerry ศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Adjunct Professor) ของสถาบันฯพบว่า “ความแตกต่างในเรื่องเศรษฐานะ” ของครอบครัวเช่น รายได้ ระดับการศึกษา และอาชีพของผู้ปกครองสามารถทำนายได้ถึง “ความสามารถด้านความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory)” ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวได้ต่อไปอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อความจำเพื่อใช้งานของเด็ก ได้แก่ รูปแบบการเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ ตลอดจนภาวะความเครียดที่แตกต่างกันไปของผู้ปกครองเด็ก ผลการศึกษานำไปสู่การพัฒนา “แบบจำลองเชิงสถิติ” และจะเสนอตีพิมพ์ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไป
แม้อัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกจะมีแนวโน้มน้อยลงแต่ก็สามารถพัฒนาประชากรที่มีน้อยลงนี้ให้มีคุณภาพให้ได้มากที่สุด โดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการทดสอบทักษะการคิดเชิงบริหาร (EF-Executive Functions)
และเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ ตลอดจนรายวิชาสำหรับบุคคลทั่วไป MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนได้ตามความสนใจ หรือเพื่อเก็บสะสมหน่วยกิตไว้ใช้เทียบโอนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของสถาบันฯ ได้ต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพจาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล