ม.มหิดลยกระดับ ‘วิจัยมวลรวม’ ของชาติ ขึ้นแท่น ‘ผู้นำตรวจสุขภาพสัตว์ทดลอง’

ม.มหิดลยกระดับ ‘วิจัยมวลรวม’ ของชาติ ขึ้นแท่น ‘ผู้นำตรวจสุขภาพสัตว์ทดลอง’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “รายได้มวลรวม” ส่วนใหญ่มาจาก “งานวิจัยมวลรวม” ของชาติ และ “งานวิจัยชั้นเลิศ” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาด “สัตว์ทดลองที่ดีมีคุณภาพ”

นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงภารกิจสำคัญของศูนย์ฯ ในปัจจุบัน ได้ยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองแห่งประเทศไทย” ซึ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านยา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องอาศัยสัตว์ทดลองที่ดีมีคุณภาพเป็นปัจจัยหลักในการวิจัยและทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “การทดสอบทางด้านพิษวิทยา” ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง

ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการดำเนินงานที่จะยกระดับการเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองให้สามารถตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง ในระดับสัตว์ทดลองปลอดเชื้อจำเพาะ(Specific Pathogen Free; SPF animal) ด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องตามมาตรฐานAAALAC International (American Association for Accreditation of Laboratory Animal Care; AAALAC) สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรฐานการบริหารจัดการด้านคุณภาพและความปลอดภัย (ISO 9001 และ ISO 45001) ที่ศูนย์ฯ ได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้สาธารณชนเชื่อมั่นได้ถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองที่ศูนย์ฯ ผลิตและให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศว่า “มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม”

ซึ่งหากพบการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในสัตว์ทดลอง ภายในศูนย์ฯ ก็จะมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าวได้อย่างสอดคล้องกับชนิดและความรุนแรงของเชื้อก่อโรค ด้วยวิธีที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีการดำเนินการทดแทนสัตว์ทดลองที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคนั้น ด้วยสัตว์ทดลองคุณภาพสูงชุดใหม่ที่เก็บรักษาไว้ในธนาคารตัวอ่อนได้ทันที ในขณะที่หากเป็นสัตว์ทดลองซึ่งส่งตรวจมาจากภายนอก จะมีการส่งรายงานผลการตรวจกลับไปโดยละเอียด เพื่อให้หน่วยงานนั้นทราบ และนำผลการตรวจไปดำเนินการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวต่อไป ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมขยายความสามารถการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองในระดับที่สูงกว่า “สัตว์ทดลองระดับ Monitor หรือ Strict Hygienic Conventional” นั่นคือ สามารถตรวจสอบคุณภาพสุขภาพ “สัตว์ทดลองระดับปลอดเชื้อจำเพาะ” โดยจะสามารถตรวจการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ได้มากกว่า 20 ชนิด

ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง ที่มีการนำมาใช้ในการวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ระดับปรีคลินิก (Pre-clinical) ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้จริงในการรักษาโรคได้ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพถ่ายโดย นายสมบูรณ์ มาตรศรี นักวิชาการโสตทัศนศึกษา (ผู้ชำนาญการ) หัวหน้างานสนับสนุนทั่วไป ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ