ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 22 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน MOU ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ จ.กระบี่
ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 22 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศและจังหวัด ลงนามบันทึกข้อตกความร่วมมือ ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชาการจัดการ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Krabi Carbon Neutral Tourism 2040)เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน โดยเป็นเครือข่ายระดับประเทศ 10 หน่วยงาน และระดับจังหวัดอีก 12 หน่วยงาน
โอกาสนี้ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ มวล. ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มวล. ตลอดจนตัวแทนสถานประกอบการในพื้นที่ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมไทรเงิน โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จ.กระบี่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกร่วมความร่วมมือในครั้งนี้ องค์กรพันธมิตรได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประชาคมโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็นร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก ทั้งนี้ กิจกรรมการท่องเที่ยวและที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ การเดินทางและขนส่ง ที่พัก อาหารและการซื้อสินค้า ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคการท่องเที่ยว ผู้เกี่ยวข้องจึงควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบโดยการวางแผนการดำเนินงานลด (Reduce) และชดเชย (Offset) คาร์บอนฟุตพริ้น และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อผลักดันนโยบายทำให้การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการปรับปรุงการบริการด้านการขนส่ง ที่พัก อาหาร กิจกรรมและห่วงโซ่อุปทานอื่น ๆ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างสมดุลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคท่องเที่ยว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
“นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ มวล.จะได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ในการผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงทรัพยากร เครื่องมือ และเทคนิควิธีการจากองค์กรระดับประเทศสู่การขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ค.ศ. 2040 หรือปี พ.ศ.2583 และจากการจัดกิจกรรม MOU ในครั้งนี้ ได้มีการออกแบบกิจกรรมเป็นการประชุมสีเขียวที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยจากการคำนวณพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 320.19 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าหรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ทดแทน 20 ต้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์