ม.มหิดลศึกษา ‘มิติความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่น’ สู่นโยบายแรงงานย้ายถิ่นโลก

ม.มหิดลศึกษา ‘มิติความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่น’ สู่นโยบายแรงงานย้ายถิ่นโลก

ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการเดินทางที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้การเดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติทำได้สะดวกรวดเร็วมากขี้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่โน้มนำให้หลายคนตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างแดน ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในฐานะแรงงานข้ามชาติและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรม

จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายในระดับโลก เมื่อสหภาพยุโรปเสนอให้ทุนวิจัยเพื่อระดมมันสมองจากนักวิจัยชั้นนำจากทั่วโลกมาศึกษาประเด็นปัญหาของแรงงานย้ายถิ่นที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับโลกร่วมกันต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลนับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมื่อเร็วๆนี้ได้สร้างชื่อเสียงจากการคว้าทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมศึกษาวิจัยในประเด็น “การตัดสินใจย้ายถิ่นของแรงงานเอเชียสู่ยุโรป” ร่วมกับ 13 สถาบัน/องค์กรทั่วโลก

ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อการมุ่งบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 8 ที่ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการจ้างงาน (Decent Work and Economic Growth) ข้อ 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequities) และข้อ 17 ที่ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือสู่การบรรลุเป้าหมาย (Partnerships for the Goals)

คนไทยที่ย้ายถิ่นไปทำงานในทวีปยุโรปมีความหลากหลายแต่ปัจจุบันมีแรงงานไทยย้ายถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากปลายทางในทวีปยุโรป และจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยเอง ได้แก่แรงงานเก็บผลไม้ป่าในช่วงฤดูร้อนของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย โดยพบว่ามีแรงงานไทยบางส่วนได้รับการปฏิบัติที่ไม่ธรรม มีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ไม่เหมาะสม และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของการวางแผนทำวิจัยภายใต้ทุนระดับโลกดังกล่าวว่า เป็นการเก็บข้อมูลของแรงงานไทยในประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป และคนไทยที่เคยไป หรือวางแผนที่จะไปทำงานในประเทศดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การสร้างนโยบายร่วมกันระหว่างประเทศ ที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาที่แรงงานย้ายถิ่นประสบอยู่

ที่ผ่านมา นโยบายด้านการย้ายถิ่นมักมาจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ แต่การวิจัยในครั้งนี้จะมุ่งทำความเข้าใจความคิด ความต้องการ และการตัดสินใจของแรงงานย้ายถิ่น สะท้อนมิติความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่นว่าเป็นผู้มีความคิดและการตรึกตรองนโยบายด้านการย้ายถิ่นจะต้องพิจารณามิติความต้องการของผู้ย้ายถิ่นด้วย

การดำเนินโครงการจะมีนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนี้ด้วย จากนั้นจะนำผลการวิจัยที่ไปเผยแพร่ผ่านสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ตลอดจนนำเสนอใน Innovation Lab ต่างๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมโลกต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ