นักวิจัยมวล. ขับเคลื่อนงานวิจัยท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่จ.กระบี่
นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขับเคลื่อนงานวิจัยท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่จังหวัดกระบี่ ตามแผน BCG Model พัฒนากิจกรรมสินค้าและบริการ ช่วยปรับ-ลด-ชดเชย คาร์บอนฟุตพริ้นจากการท่องเที่ยว พร้อมตั้งเป้าให้กระบี่เป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปีค.ศ.2040
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของมวล.กำลังร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานวิจัย เรื่อง”การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง”ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นจากการท่องเที่ยว การวิเคราะห์ตลาดทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการคำนวณขนาดการปล่อยคาร์บอน การปรับ-ลด-ชดเชยปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นจากการท่องเที่ยว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เป็นการท่องเที่ยวโดยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวลงไปสัมผัสวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชุมชน ได้ศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติ ใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน ซึ่งนักวิจัยมวล.ได้ลงไปขับเคลื่อนในชุมชนต้นแบบของกระบี่ ได้แก่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง ชุมชนทุ่งหยีเพ็ง บ้านแหลมสัก เกาะกลาง ห้วยน้ำขาว คลองท่อม และชุมชนบ้านนาตีน ซี่งขณะนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ถูกนำไปใส่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวและได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบยุโรปและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ฯ ต้องอาศัยการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้น เพื่อให้ทราบค่าเป้าหมายในการลดคาร์บอนฟุตพริ้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการจัดการโดยเฉพาะด้านยานพาหนะทางการท่องเที่ยวและการจัดการขยะ เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้น นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมการลดคาร์บอนฟุตพริ้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความตระหนักและมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอตามปฏิญญากระบี่ หลังจากการลดแล้วต้องมีการชดเชย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวสามารถนำคะแนน Earth Point ขององค์กรไปแลกคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการชดเชย ซึ่งการขับเคลื่อนจะเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงทั้งเครือข่ายในระดับประเทศ และเครือข่ายในจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 ต่อไป
“ทีมนักวิจัยมวล.ขอขอบคุณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัย รวมถึงสำนักงานจังหวัดกระบี่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่และสมาคมการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดกระบี่ ที่ร่วมกันในการพัฒนาโจทย์วิจัยและวางแผนขับเคลื่อนการผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์