วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ เปิดบริการตรวจวัดรังสีเชิงลึก เคลียร์ประเด็นซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน?

วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ เปิดบริการตรวจวัดรังสีเชิงลึก เคลียร์ประเด็นซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน?

อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ เผยไม่พบการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่ตกเป็นข่าว พร้อมให้บริการวิชาการและการตรวจวัดรังสีโดยทีมผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึก
จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อราวต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการแชร์ข้อมูลในโลกโซเซียลถึงอันตรายร้ายแรงจากซีเซียม ทำให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตระหนกและกังวลใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พืชผลการเกษตรถึงกับขายไม่ออก ราคาตก จนเกษตรกรต้องออกมาร้องขอความเห็นใจและให้ความมั่นใจว่าสินค้าของพวกเขารับประทานได้ ปลอดกัมมันตภาพรังสี!

ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเครื่องมือในการตรวจวัดรังสีครบถ้วน คณาจารย์รจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องผ่านสื่อ Social media ช่องทางต่างๆ และยังจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนิสิต ให้ลงไปในพื้นที่ประสบเหตุ เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุซีเซียม-137 จากตัวอย่างในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อาหาร พืช ผักผลไม้ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ผลของการตรวจวิเคราะห์คือ “ไม่พบการปนเปื้อนของรังสี” และ “ไม่พบการแพร่กระจายซีเซียม-137 ในอากาศ” ซึ่งหมายความว่าประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

“รังสี เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ยกตัวอย่างเช่น รังสีเอกซ์จากเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ที่ใครหลายๆ คนต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดีในอุตสาหกรรมเองก็มีการใช้สารกัมมันตรังสีกันอย่างไม่น้อยเช่นกัน แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้ ผู้คนจึงหวาดกลัวมากกว่าที่จะรู้จักประโยชน์อันมากมายของสารกัมมันตรังสีและรังสี เพราะฉะนั้นการมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ” รองศาสตราจารย์ นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

สำหรับอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ กรณีนี้เป็นโอกาสที่ผู้คนในสังคมจะได้รู้จักซีเซียม-137 มากขึ้น และหากยังไม่มั่นใจเรื่องการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมจะให้บริการวิชาการและตรวจวัดรังสีด้วยเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึกความไวสูง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ซีเซียม-137 คืออะไร

อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าซีเซียม-137 เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน มีค่าครึ่งชีวิต 30.17 ปี เมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยอนุภาคบีตาและรังสีแกมมา กลายเป็นแบเรียม-137

ซีเซียม-137 นิยมถูกนำมาใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาสำหรับประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น การฉายรังสีอาหาร เครื่องวัดระดับของวัสดุในภาชนะ เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น เครื่องวัดความหนาของแผ่นโลหะ และ การหยั่งธรณีในอุตสาหกรรมการขุดเจาะ สำหรับงานทางด้านการแพทย์ซีเซียม-137 ถูกนำมาใช้ก็ในการฉายรังสีรักษามะเร็ง

แต่รู้หรือไม่ว่าในดินก็อาจมีธาตุซีเซียมด้วย?

อาจารย์รวิวรรณอธิบายว่า ซีเซียม-137 สามารถถูกตรวจพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น ดิน และ น้ำ ซึ่งซีเซียม-137 ที่แพร่กระจายและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลกนี้เกิดมาจากฝุ่นกัมมันตรังสี หรือ fallout ที่เกิดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศและจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครน

อย่างไรก็ตามซีเซียม-137 จากฝุ่นกัมมันตรังสีเหล่านี้ได้เกิดการสลายตัวไปมากกว่า 1 ครึ่งชีวิต ทำให้มีปริมาณลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากที่เกิดขึ้น “ดังนั้น การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมบางแห่ง จึงมีโอกาสพบซีเซียมอยู่ แต่ในปริมาณที่น้อยมาก และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด” อ.รวิวรรณกล่าว

ซีเซียม-137 ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

รองศาสตราจารย์ นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากซีเซียมที่หายไปมีเหล็กและตะกั่วซึ่งทำหน้าที่เป็นกำบังรังสีห่อหุ้มอยู่ ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่าเป็นแท่งเหล็ก จึงได้นำไปขายเป็นเศษเหล็ก และถูกส่งต่อไปยังโรงงานหลอมเหล็กเพื่อนำเหล็กเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่

“โดยปกติ ในโรงงานหลอมโลหะ เตาหลอมจะเป็นระบบปิดและมีระบบบำบัดฝุ่นและมลพิษซึ่งทำหน้าที่ในการดักจับฝุ่นโลหะและมลพิษที่เกิดขึ้นจากเตาหลอมซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้มลพิษหรือฝุ่นใดที่เกิดจากการหลอมโลหะฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ส่วนฝุ่นเหล็กที่หลอมแล้วก็จะถูกบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก ซึ่งในกรณีที่เป็นข่าว ได้มีการระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงานแล้ว”

รศ.นเรศร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ซีเซียมมีจุดหลอมเหลว 28.5 องศาเซลเซียส และมีจุดเดือด 671 องศาเซลเซียส ซึ่งน้อยกว่าเหล็กที่มีจุดหลอมเหลวประมาณ 1538 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในกระบวนการหลอมเหล็ก ซีเซียมจะระเหยเป็นไอ และอาจไปเกาะอยู่กับอนุภาคของฝุ่นเหล็ก ซึ่งถูกจัดการและควบคุมเป็นอย่างดีในระบบปิดดังที่กล่าวไปข้างต้น

“ความแรงรังสีของซีเซียมที่อาจปนเปื้อนกับฝุ่นเหล็กมีค่าน้อยมาก และถ้าซีเซียมจากเตาหลอมเกิดการเล็ดลอดแพร่กระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศจริงก็จะถูกเจือจางด้วยอากาศ ดังนั้นจึงไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับคนที่อาจจะมีการได้รับซีเซียมที่เปรอะเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์เตาหลอมจังหวัดปราจีนบุรีนี้เข้าสู่ร่างกาย และเนื่องจากซีเซียมเป็นสารที่ละลายน้ำได้ง่ายจึงเกิดการตกค้างในร่างกายเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ”

เครื่องวัดรังสีความไวสูง

คุณพงษ์ยุทธ ศรีพลอย เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ลงพื้นตรวจวัดค่าซีเซียม-137 กล่าวว่า การตรวจวัดค่าซีเซียม-137 ค่อนข้างง่าย เนื่องจากซีเซียมแผ่รังสีแกมมา จึงสามารถใช้เครื่องมือสำรวจเบื้องต้นเพื่อตรวจวัดการแผ่รังสีแกมมาว่าออกมามากกว่ารังสีภูมิหลังของธรรมชาติหรือไม่

“เครื่องมือวัดปริมาณรังสีแกมมาเป็นการวัดแบบเบื้องต้น ใช้กับการวัดรังสีในระยะใกล้ โดยนำเครื่องมือเข้าใกล้วัตถุ ถ้าวัตถุมีรังสีแกมมา เครื่องจะมีเสียงดังแจ้งเตือนขึ้นและบอกค่าปริมาณรังสีเป็นตัวเลข แต่จะไม่สามารถแสดงผลได้ว่าเป็นรังสีชนิดใด” คุณพงษ์ยุทธ เล่าถึงการวัดแบบเบื้องต้นด้วยเครื่องวัดอัตราปริมาณรังสีแกมมา (Gamma dose rate meter)

นอกจากเครื่องมือวัดปริมาณรังสีแบบเบื้องต้นแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ ยังใช้เครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง (High sensitivity Gamma-ray spectrometer) เพื่อการวิเคราะห์ในเชิงลึกด้วย

“เครื่องมือวัดเชิงลึกสามารถวัดครอบคลุมพื้นที่ระยะ 30 – 50 เมตร โดยนำเครื่องไปตั้งบริเวณพื้นที่ ถ้ามีวัสดุต้องสงสัยที่แผ่รังสีออกมา หน้าจอจะแสดงค่าสเปกตรัมให้เห็น และสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เจอเป็นธาตุอะไร ซึ่งเราใช้เครื่องมือทั้ง 2 ชนิดสำรวจควบคู่กันไปเพื่อความมั่นใจให้กับผู้คนในพื้นที่”

ผลการตรวจวัดคือปริมาณรังสีมีค่าเฉลี่ยประมาณ 0.041 ?Sv/hr ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” เป็นค่าปริมาณรังสีในธรรมชาติ
“อัตราการรับรังสีที่มากกว่า 100 ?Sv/hr จึงจะถือว่าเป็นระดับความเสี่ยงสูง และสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้”
คุณพงษ์ยุทธ เผยผลในภาพรวมของการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เป็นข่าว รวมทั้งพื้นดิน น้ำดื่ม น้ำประปา และผักผลไม้ ว่า “ไม่พบ” การปนเปื้อนของรังสี และ “ไม่มี” การแพร่กระจายซีเซียม-137 ในอากาศ

“ประชาชนมีความกังวลมากกับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น โรงงานบริเวณใกล้เคียงก็กลัวว่าจะมีการปนเปื้อนของสารเข้ามาในโรงงาน การที่ทีมของเราลงพื้นที่ไปตรวจวัดค่าซีเซียม ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้ทุกคนได้เป็นอย่างดี” คุณพงษ์ยุทธ กล่าว

วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ พร้อมบริการวิชาการ และตรวจวัดรังสี เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนในหลายภาคส่วนเริ่มตื่นตัวกับวัสดุกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 รวมถึงการปนเปื้อนของรังสีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามีบริษัท โรงงานต่างๆ ติดต่อเข้ามาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ ไปตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของรังสี ซึ่งทางภาควิชาก็ได้ให้ทั้งบริการวิชาการและการลงพื้นที่ตรวจวัดรังสีให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“ถ้ามีใครเดือดร้อน เราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการทำ CSR ของทางภาควิชาฯ เรามีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและเครื่องตรวจวัดรังสีที่ครบถ้วน” รศ.นเรศร์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือ Email: [email protected]

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ