ม.มหิดลเชื่อมั่นคุณภาพหลักสูตรนานาชาติ ส่งนศ.ฝึกงานองค์กรระดับโลก UNESCAP
37 ปีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ด้วยคุณภาพจากนักศึกษาและศิษย์เก่ารวมกว่า 10,000 คน กว่า40 สัญชาติ ได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็นสถาบันอุดมศึกษานานาชาติชั้นนำของประเทศ
หนึ่งในหลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล(MUIC) ที่เปิดสอนมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเปรียบเสมือน”ประตู” เปิดสู่โลกแห่งนานาชาติ คือ “หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก” (Bachelor of Arts Program in International Relations and Global Affairs (International Program))”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลเลียม เจ โจนส์ (Assistant Professor William J. Jones) ประธานหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ได้ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพนักศึกษาของหลักสูตรฯ ว่ามีศักยภาพเทียบเท่านักศึกษาจากสถาบันการศึกษานานาชาติทั่วโลก
ด้วยระบบการเรียนการสอนแบบสากลที่เน้นให้นักศึกษาได้เปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ให้เข้ายุคสมัยและส่งเสริมให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียน
โดยทางหลักสูตรฯ ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ และสถานทูตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมฟังเสวนาเพื่อพัฒนาความรู้
นอกจากนี้ ทางหลักสูตรฯ ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เข้าร่วมงานจิตอาสากับองค์กรในระดับนานาชาติต่างๆ เช่น UNEP, ASEAN Summit Greenpeace และ World Animal Protection เพื่อจะพัฒนาทักษะสำคัญในการทำงานในหน่วยงานต่างๆ
และที่สำคัญเนื้อหาของหลักสูตรฯ ได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะร่วมกันพัฒนาประเทศและสังคมโลก
ที่ผ่านมา หลักสูตรฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมฝึกงาน ณ องค์กรระดับโลก เช่นที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมงอย่างครบวงจร ตั้งแต่ร่วมวิจัย พัฒนาสู่นโยบาย และนำเสนอเพื่อการปฏิบัติ
นอกจากนี้ได้มีการส่งนักศึกษาฝึกงานไปในภาคส่วนต่างๆเช่น กระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สถานทูตต่างๆ หอการค้าต่างๆGreenpeace หน่วยงานสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานเพื่อปกป้องสตรี และ LGBTQ+
และจากสถิติของบัณฑิตซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก ที่ผ่านมามีจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งที่ได้รับการเสนองานจากภาคเอกชนระดับแนวหน้าอื่นๆ ที่แสดงเจตจำนงมาอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการส่งนักศึกษาออกฝึกงานนั้น สามารถการันตีได้เป็นอย่างดีว่า นักศึกษาของหลักสูตรฯ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกทำวิจัยฉบับย่อตามความถนัด และความสนใจของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นวิทยาพนธ์สำหรับปริญญาโท
หนึ่งในผลงานวิจัยอันโดดเด่นของนักศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในเวลาต่อมา ได้แก่ การตีแผ่ปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการใช้ทวิตเตอร์(Twitter) ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลยอดนิยมของวัยรุ่นไทยในมุมมองที่ย้อนแย้งว่า เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือเพียงเพื่อการสร้างกระแส เป็นต้น
และอีกหนึ่งจุดเด่นของทางหลักสูตรฯ คือ การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งผู้แทนนักศึกษา (IRGA Ambassador) เพื่อเป็นกระบอกเสียง และประสานงานจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาโดยตรง
และเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาภายใต้ IRGA Program ได้มีการสนับสนุนนักศึกษาในการจัดตั้ง Student Club เช่น MUN Club (Model United Nations Club) และ Gender Club เป็นต้น
ร่วมเปิดประตูสู่โลกแห่งนานาชาติกับประสบการณ์ที่สัมผัสได้จริงจาก สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดรับสมัคร 19 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2566 ทางwww.muic.mahidol.ac.th
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพและแบนเนอร์โดย MUIC
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล