จุฬาฯ รุกกลยุทธ์ “ปลูกต้นไม้-ได้เห็ด” จูงใจเกษตรกรน่านและสระบุรี ร่วมรักษ์ป่า

จุฬาฯ รุกกลยุทธ์ “ปลูกต้นไม้-ได้เห็ด” จูงใจเกษตรกรน่านและสระบุรี ร่วมรักษ์ป่า

นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการปลูกป่าที่จังหวัดน่านและสระบุรี ด้วยนวัตกรรมกล้าไม้ที่มีรา เอคโตไมคอร์ไรซา สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านและเกษตรกร “ปลูกป่า ได้เห็ด” สร้างอาชีพ เสริมรายได้

ผืนป่าในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย หลายแห่งกลายเป็นเขาหัวโล้นและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ดูจะสิ้นหวังในการฟื้นฟู แม้ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนจะพยายามรณรงค์ให้มีการปลูกป่าทดแทน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากการปลูกป่าใช้ระยะเวลานาน และที่สำคัญ ต้องการความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ในการร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ จึงพยายามหาแนวทางที่จะสร้างแรงจูงใจและดึงให้ชาวบ้านมาเป็นแนวร่วมผู้ปลูกและพิทักษ์ป่า

และคำตอบของโจทย์นี้อยู่ที่ราเอคโตไมคอร์ไรซา

“เราให้ชาวบ้านปลูกป่าประเภทไม้วงศ์ยาง ซึ่งนอกจากจะได้ต้นไม้ที่จะเติบใหญ่เป็นป่าในอนาคตแล้ว ยังได้ “เห็ด” หลายชนิดที่ขึ้นบริเวณรากต้นไม้เป็นผลพลอยได้ ช่วยเพิ่มช่องทางหาเลี้ยงชีพให้ชาวบ้านและเกษตรกรไทย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กิตนะ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงความสำเร็จในการดำเนินโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ ในพื้นที่ป่าที่ จ.น่าน และ จ. สระบุรี ด้วยนวัตกรรมกล้าไม้ที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซา

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมกล้าไม้ราเอคโตไมคอร์ไรซาฟื้นฟูป่า

จังหวัดน่านเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือที่เคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการพัฒนาสมัยใหม่ทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ของจุฬาฯ กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่เคยเป็นป่าเต็งรังก็เช่นกัน

ผศ.ดร.นพดล จากศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ เผยว่าแนวคิดในการฟื้นฟูป่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ที่มีโครงการวิทยาพื้นถิ่น เพื่อศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงการประยุกต์ใช้ ในเวลานั้น ได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มาวิจัยและทดลองใช้กล้าไม้ที่มีรา “เอคโตไมคอร์ไรซา” เพื่อฟื้นฟูป่าที่จังหวัดน่าน

“เราเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงราเอคโตไมคอร์ไรซาในห้องปฏิบัติการ แล้วนำไปขยายใส่ให้กับ กล้าไม้วงศ์ยางที่เรือนเพาะชำ หลังจากปลูกต้นไม้วงศ์ยางได้ 4-5 ปี ก็มีเห็ดขึ้นบริเวณรากต้นไม้ ต่อมาในปี 2554 เราจึงขยายผลมาทำโครงการวิจัยในพื้นที่ของจุฬาฯ ใน จ.สระบุรี ซึ่งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถูกบุกรุกทำลายเช่นกัน” ผศ.ดร.นพดล กล่าว

ไมคอร์ไรซา กับ ต้นไม้ ความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ได้ในระบบนิเวศ

ผศ.ดร.จิตรตรา ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเกี่ยวกับราไมคอร์ไรซามากว่า 20 ปี อธิบายถึงความพิเศษของราชนิดนี้ว่า “ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) มีที่มาจากคำว่าไมคอร์ที่แปลว่า “รา” กับไรซาที่แปลว่า “ราก” ไมคอร์ไรซาจึงหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรากับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เชื้อราไมคอร์ไรซาจะหาน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ส่งให้พืช ในขณะที่พืชก็สังเคราะห์แสงแล้วสร้างอาหารส่งลงมายังรากซึ่งมีเส้นใยราอยู่รอบ ๆ”

นอกจากราจะหาอาหารให้พืชแล้ว ยังทำให้พืชแข็งแรง ช่วยป้องกันอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอีกด้วย และพบว่าพืชที่มีราไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่จะเจริญเติบโตได้ดี ทนแล้ง ทนต่อความเป็นกรดด่างของดินได้ ทำให้พืชมีอัตราการรอดตายสูง” จากรายงานการศึกษาวิจัยปัจจุบันทำให้ทราบว่าไมคอร์ไรซามีบทบาทสำคัญมากกับระบบนิเวศป่า ทั้งนี้เนื่องจากเส้นใยราไมคอร์ไรซาใต้ดินที่แผ่ขยายไปทั่วผืนป่าเป็นเครือข่ายที่ต้นไม้ในป่าใช้สื่อสารซึ่งกันและกันทั้งเรื่องของอาหาร สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการเจริญเติบโตและการอยู่รอด หรือที่เรียกว่า “Wood Wide Web” ทำให้เราทราบว่าต้นไม้ในระบบนิเวศป่ามีการติดต่อสื่อสารหรือคุยกันผ่านสายใยของราไมคอรไรซานี้เอง

ไมคอร์ไรซาสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) เป็นราที่เจริญอยู่รอบรากพืชและรอบๆ เซลล์รากพืช และ เอ็นโดไมคอร์ไรซา (endomycorrhiza) เป็นราที่เจริญอยู่ในเซลล์พืช

“เอคโตไมคอร์ไรซามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยอยู่อาศัยร่วมกับรากพืชจำพวกไม้ป่า เช่น ไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เช่น ยางนา ยางแดง เหียง ตะเคียน พลวง พะยอม เต็ง รัง ฯลฯ ไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) วงศ์สนเขา (Pinaceae) และวงศ์ยูคาลิปตัส (Myrtaceae) และยังเป็นราที่สร้างดอกเห็ด ซึ่งเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของรากลุ่มนี้ โดยอาศัยความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญขึ้นมาเป็นดอกเห็ด สร้างสปอร์แพร่ขยายพันธุ์ต่อไปเป็นวัฏจักรหมุนเวียนไป” ผศ.ดร.จิตรตรา อธิบาย

ปลูกป่า เพ(ร)าะเห็ด กลยุทธ์ฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.จิตรตรา เผยว่าหลังจากลงมือปลูกกล้าไม้วงศ์ยางนาที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซา เพียง 4 ปีก็จะมีเห็ดขึ้นโดยรอบต้นไม้ โดยในตอนแรกจะพบเห็ดน้ำหมากเป็นส่วนมาก และในปีต่อ ๆ มา เมื่อต้นไม้เริ่มใหญ่ขึ้น จำนวนดอกเห็ดจะลดลง แต่มีความหลากหลายมากขึ้นตามฤดูกาล เช่น เห็ดเผาะจะพบมากในช่วงปลายร้อนต้นฝน หรือราวเดือนพฤษภาคม ส่วนในช่วงหน้าฝน เห็ดไมคอร์ไรซาที่พบมาก ได้แก่ เห็ดระโงกต่างๆ เห็ดน้ำหมาก เห็ดตะไคล เห็ดผึ้ง เห็ดขมิ้น เป็นต้น ซึ่งปริมาณความชื้นในดินจะเป็นตัวกำหนดชนิดและความหลากหลายของเห็ด นอกจากนี้เมื่อป่ามีความสมบูรณ์ขึ้น เห็ดอื่นๆ ที่ไม่ใช่เห็ดไมคอร์ไรซาก็จะเกิดขึ้น เช่น เห็ดโคน เห็ดลม เห็ดขอน เป็นต้น

“เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดหมาก ฯลฯ เป็นเห็ดประเภทไมคอร์ไรซา ที่มีราคาแพงเนื่องจากเพาะ ขึ้นเองไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นบริเวณรากของต้นไม้ในป่าเท่านั้น เห็ดเหล่านี้จะโตในป่าเต็งรังซึ่งเป็นไม้วงศ์ยาง ดังนั้นถ้าอยากได้เห็ดต้องปลูกต้นไม้” ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าว

นอกจากพื้นที่ทางภาคเหนือแล้ว ผศ.ดร.จิตรตรา กล่าวว่าวิธีการปลูกป่าในโครงการนี้สามารถนำไปใช้กับการปลูกป่าไม้พื้นถิ่นได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

สำหรับ ผศ.ดร.จิตรตรา ไม้วงศ์ยางจัดเป็น “ไม้วิเศษ” ที่ไม่เพียงสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน แต่ยังเป็นหนึ่งในไม้ที่ช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้เป็นอย่างดีด้วย

ป่า-เห็ด-คน เกื้อกูลกัน

วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่กับป่าอยู่แล้ว และเห็ดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชุมชน ชาวบ้านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ด ลักษณะเห็ดที่กินได้ ฤดูกาลในการเก็บเห็ด และจุดที่จะพบเห็ด ฯลฯ จึงไม่ยากเลยที่จะเชื่อมโยงความรู้ของชาวบ้านที่มีอยู่กับการอนุรักษ์ป่า ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่าที่ผ่านมา ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ชาวบ้านเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และวิธีการปลูกต้นไม้แล้วได้เห็ดในเวลา 4 ปี นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายฯ ยังเพาะไม้วงศ์ยางซึ่งเป็นที่อาศัยของเห็ดไมคอร์ไรซา และมีชาวบ้านติดต่อเพื่อขอรับกล้าไม้จากศูนย์เครือข่ายฯ ไปปลูกเป็นจำนวนมาก

“เราอยากให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล เมื่อเขาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเห็ด รา และต้นไม้ เขาจะช่วยปลูกและรักษาป่า และได้รับประโยชน์จากป่า ได้เห็ดมารับประทานและนำไปขาย เพื่อหาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย” ผศ.ดร.นพดล กล่าวทิ้งท้าย

หน่วยงานและผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อขอรับกล้าไม้ที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซาได้ฟรี! ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และ อ.เมืองน่าน จ.น่าน หรือติดต่อเว็บไซต์ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ http://www.clnr.chula.ac.th/index.php

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ