ครม. อนุมัติงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 67 รวมกว่า 1.46 แสนล้านบาท พร้อมตอบโจทย์ประเทศทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี

ครม. อนุมัติงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 67 รวมกว่า 1.46 แสนล้านบาท พร้อมตอบโจทย์ประเทศทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายฯ เสนอ

โดย ครม. ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา จำนวน 114,970,403,419 บาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. จำนวน 31,100,000,000 บาท เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 146,070,403,419 บาทมุ่งเป้าจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ทั้งด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนของแผนงานสำคัญภายใต้กรอบวงเงินด้าน อววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในด้านการอุดมศึกษา มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 1) การผลิตบัณฑิตในระบบอุดมศึกษา ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 415,525 คน 2) การผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (non-degree Program) ที่เปิดโอกาสประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีคุณวุฒิระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษาสามารถพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (reskill) การยกระดับทักษะเดิม (upskill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (new skill) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน และ 3) การพัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต ที่เปิดโอกาสให้ประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไป สามารถรับการศึกษาทั้งในระบบ degree program และ non-degree program

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (reinventing university) เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและระบบเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญ ดำเนินการตามกลไกการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาแสวงหาบุคลากร ความเป็นนานาชาติ การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ

ในด้าน ววน. ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (advanced therapy medicinal products: ATMPs) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (innovation-driven enterprises: IDEs) การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน functional ingredients, functional food และ novel food การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน เป็นต้น 2) การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาผู้สูงอายุในชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เป็นต้น 3) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (earth space technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ เป็นต้น 4) การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (hub of talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (hub of knowledge) ของอาเซียน เป็นต้น

ทั้งนี้ กรอบงบประมาณด้าน อววน. ที่เสนอ ครม. ในครั้งนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบจากการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ