สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จับมือมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนาม MOU สร้างงานวิจัย-หนุนคนรุ่นใหม่ดัน “อาหารไทยโบราณ” สู่ซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จับมือมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนาม MOU สร้างงานวิจัย-หนุนคนรุ่นใหม่ดัน “อาหารไทยโบราณ” สู่ซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก
สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และงานวิจัยในการสืบสานและต่อยอดสูตรตำรับอาหารไทยโบราณ ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันมรดกภูมิปัญญาอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกพร้อมเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และนางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิเชฟแคร์ส ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า วันนี้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีความยินดีที่ได้ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิเชฟแคร์ ทั้งในด้านความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของการเก็บรักษาองค์ความรู้สูตรอาหารไทย การศึกษาวิธีการจัดเก็บและเผยแพร่ตำราอาหารไทยในลักษณะดิจิทัล รวมทั้งการรักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทย อาทิอาหารไทยพื้นบ้าน อาหารไทยสูตรดั้งเดิม ผ่านสื่อภาพยนตร์ การสร้างหลักสูตรทวิภาคีด้านอาหารร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกงานในระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ร่วมกัน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตลอดจนการรับนักเรียนนักศึกษาที่มีศักยภาพเข้าเป็นพนักงานของมูลนิธิเชฟแคร์ส โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่กิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา การอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมอาหารไทยให้ยั่งยืนต่อไป
นางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิเชฟแคร์ส กล่าวว่า เชฟแคร์สก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างความร่วมมือกับเชฟชั้นนำทั้งระดับประเทศและระดับโลก และหวังว่าศาสตร์และศิลป์ในการทำอาหารจะช่วยผลักดันให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อสังคม โดยพันธกิจที่สำคัญของมูลนิธิเชฟแคร์ส คือการอนุรักษ์มรดกอาหารไทย วัฒนธรรมอาหารไทย และนำเสนอวัฒนธรรมอาหารไทยในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ดังนั้นความร่วมมือทางด้านวิชาการและวิชาชีพกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมากมายที่สามารถสานต่อมรดกวัฒนธรรมอาหารไทยและนวัตกรรมไปสู่คนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อสืบสาน เผยแพร่ และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างพร้อมแข่งขันเวทีโลก มูลนิธิเชฟแคร์ส จึงยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนโครงการที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจัดทำขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มี รวมถึงเชฟที่มีประสบการณ์หลากหลายร่วมต่อยอดในเชิงการศึกษาและวิจัย เพื่อเพิ่มมิติการเรียนรู้และสร้างโอกาสเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอาหารไทยในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น
“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและมูลนิธิเชฟแคร์สในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดวัฒนธรรมอาหารไทยให้เติบโตได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และทำให้นักเรียนนักศึกษาผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เรียนรู้และเข้าถึงประสบการณ์หลากมิติ ซึ่งจะผลักดันให้อาหารไทยได้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน” นางมาริษา กล่าว
ที่มา: ซีพี