ม.มหิดล หนุนองค์กรให้สามารถประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิศวกรรมซอฟต์แวร์
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการข้อมูลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมการพัฒนาสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อสังคมเข้าสู่ยุค Big Data ที่หล่อเลี้ยงด้วยข้อมูลมหาศาลในการดำเนินชีวิตเช่นปัจจุบัน การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล จนถึงการนำข้อมูล และความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา จำเป็นต้องใช้หลักการทางวิทยาการข้อมูลเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ หุ่นหล่อ อาจารย์ประจำกลุ่มวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของ”วิทยาการข้อมูล” หรือ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Science) ที่มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม ตั้งสมมุติฐาน การทดลอง และทดสอบสมมุติฐาน ทั้งนี้ถ้าองค์กรมีการตั้งโจทย์ที่เหมาะสมสามารถตอบด้วยข้อมูลที่มีได้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้า อย่างเช่นการเปิด-ปิดไฟฟ้า และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประเมินและเปรียบเทียบเช่นจำนวนคนเข้าใช้สถานที่ สภาพแวดล้อมทั่วไปมาวิเคราะห์ สามารถหาแนวทางการควบคุมการเปิด-ปิดไฟฟ้า หรือใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น และเหมาะสม อาจช่วยลดการใช้พลังงานได้ โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
จากงานสำรวจ และวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า หากองค์กร หรือสถานประกอบการใดมีการใช้ Data Science ช่วยในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉลี่ยจะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถถึงร้อยละ 5 และมีผลกำไรได้มากกว่าคู่แข่งถึงร้อยละ 6 โดยเฉลี่ย ซึ่งถ้ามองบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัทข้ามชาติ พบว่าร้อยละ 5-6 อาจหมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายหรือได้ผลกำไรถึงหลักร้อยล้านเลยทีเดียว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ หุ่นหล่อ ได้รับทุนวิจัยจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาแนวทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการนำ Data Science มาใช้ในการแก้ปัญหาด้วยข้อมูล (Data Product) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลการพัฒนา data product ในองค์กรต่างๆ เพื่อศึกษาปัญหา และเตรียมออกแบบแนวทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม และทดสอบในช่วงกลางปี2566 ก่อนเปิดตัวเพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ประมาณเดือนกันยายน 2566
หากเป็นไปได้เป้าหมายต่อไปในงานวิจัย คือการพัฒนา ISO STANDARD สำหรับ data science application และproduct เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและใช้เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาต่อยอดสู่ซอฟต์แวร์เพื่อการให้บริการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อไปในอนาคต
ด้วยศักยภาพของการจัดการ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยข้อมูลที่เหนือกว่า จะเป็นที่ประจักษ์ถึงความได้เปรียบ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับนำไปปรับใช้แก้ปัญหา จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอน .
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล