งานแถลงข่าว เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CMICe)
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula Medical Innovation and Entrepreneurship Center: CMICe (ซี-ไมซ์) พร้อมทั้งจัดการเสวนาหัวข้อ “Innovation Development: From Idea to Prize and Price” และ หัวข้อ “Academic Transformation; From Research to Entrepreneurship” โดยมี คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด คุณพรหมพร สิ้นโศรก ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ตลาดธุรกิจปิโตรเคมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คุณอุฬาร อภิรูปากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพ็นต้า อิมเพ็กซ์ จำกัด นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุเฌ้อสเซอรี่โฮม เข้าร่วมการเสวนา นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ Medical Innovation for Society Booth โดยทีมนวัตกรเพื่อสังคมแห่งอนาคต ณ โถงอาคาร รัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม “Innovations for Society” หากสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม แต่คุณค่าจะเกิดขึ้นได้นั้นต่อเมื่อผลงานได้ถูกนำไปใช้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ ในปัจจุบัน Medical Innovation หรือนวัตกรรมทางการแพทย์มีความสำคัญมากในการต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วย ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมุ่งผลักดันนวัตกรในการสร้างสรรค์ต่อยอดผลงานวิจัย ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้างไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ต่อไป
ทางด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร เผยว่า ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการเป็นองค์กรชั้นนำด้านการประกอบการนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับประเทศและนานาชาติ ยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาจากบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นที่ยอมรับ สร้างมูลค่าและผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน นอกจากนี้ ส่งเสริม ผลักดันการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมแบบบูรณาการ เพื่อให้ได้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือการบริการทางการแพทย์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประดิษฐ์และตอบโจทย์ต่อผู้บริโภค โดยความร่วมมือและการสนับสนุนทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
ในด้านผลงานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ ของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ
มีผลงานที่นำไปใช้ต่อผู้ป่วยได้จริงแล้ว เช่น หมอนพักพิง (PAKPING) หมอนช่วยลดอาการกรดไหลย้อนขณะนอน ออกแบบรองรับสรีระของผู้ใช้ เพื่อคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น และ อาหารเสริมต้านนิ่วในปัสสาวะ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปของสารละลายเข้มข้นบรรจุซอง โดยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนี้จะมีปริมาณซิเทรทสูง เพื่อเพิ่มปริมาณการขับออกของซิเทรทในปัสสาวะ และช่วยทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระ Alpha-lipoic acid (ALA) และสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอลจากสมุนไพรธรรมชาติ ได้แก่ น้ำต้นแกนกล้วย อัญชัน และฝาง เพื่อลดภาวะเครียดจากออกซิเดชันในผู้ป่วย อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับน้ำมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาตรปัสสาวะ เป็นต้น
“สำหรับทิศทางในอนาคตของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการนั้น มีความตั้งใจในการพัฒนาองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทุกสหสาขาวิชาทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ เปลี่ยนความสุขจากความสำเร็จให้เป็นรายได้นำไปสร้างมูลค่า เพิ่มศาสตร์งานด้านธุรกิจให้แก่ประเทศต่อไป” ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร กล่าว
ผู้ที่สนใจหรือองค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจปรึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ ของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 092 480 8907 หรืออีเมล [email protected] .
ที่มา: ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ