DPU เปิดตัว ศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรแห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทย ดีเดย์เปิดให้บริการ 1 พ.ย. นี้
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ฉลองครบรอบ 55 ปี เปิดตัว “DPU Wellness Center” ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบครบวงจรแห่งแรกของมหาวิทยาลัยไทย ดีเดย์เปิดให้บริการ 1 พ.ย. นี้ ระบุโอกาส Wellness เติบโตสูง แนะส่งเสริม Wellness Tourism ดึงนักท่องเที่ยวนานาชาติเพิ่มรายได้มหาศาลเข้าประเทศ
วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตร 28 สถาบัน ทั้งไทยและต่างประเทศ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้าน Wellness ในงาน “DPU Wellness Showcase” พร้อมเปิดศูนย์บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร “DPU Wellness Center” เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนแก่นักศึกษา และให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมกล่าวเปิดงาน ว่า “การจัดกิจกรรม DPU Wellness Showcase และการเปิดศูนย์ DPU Wellness Center นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2566 แล้ว ยังเป็นการฉลองครบรอบ 11 ปี ของหลักสูตรเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่ง Wellness เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนด้านการศึกษาของ DPU และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศด้วย โดยประเทศไทยและทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ส่วน คือ Digital Economy, Green Economy และ Care Economy ซึ่ง DPU มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม Wellness และ DPU ยังมีหน้าที่หลัก คือ การผลิตและพัฒนาคนให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และกำลังคนของประเทศ ซึ่งไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้าน Wellness รวมทั้งงานวิจัยด้านนี้มีจำนวนจำกัด การเปิดศูนย์ DPU Wellness Center จึงจะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการสำหรับนักศึกษา รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัยร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน”
ด้าน ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า นักศึกษาจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตจริงในโลกภายนอก ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อนำประสบการณ์ องค์ความรู้ให้แก่นักศึกษา การเปิดศูนย์ DPU Wellness Center ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะเริ่มเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการในส่วนของแพทย์แผนไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการ ด้านการดูแลสุขภาพ (Wellness) อย่างครบวงจรในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยฯ ได้มีการเปิดหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรสุขภาพและความงาม หลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นหลักสูตรโภชนวิทยาและการประกอบอาหารสุขภาพ และหลักสูตรการแพทย์แผนไทย รวมทั้งนักศึกษาสามารถต่อยอดเรียนปริญญาโทสาขาเวชศาสตร์ชะลอวัย และสาขาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดปริญญาโทแพทย์แผนจีนด้วย
ทั้งนี้ “ผศ.ดร.นพ.พัฒนา” ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “องค์รวมของ Wellness” ตอนหนึ่งว่า อุตสาหกรรม Wellness มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดย 8 มิติ ที่สำคัญคือ Physical Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านร่างกายและสุขภาพ) Emotional Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านอารมณ์) Intellectual Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านสติปัญญา) Spiritual Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านจิตใจ) Social Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านสังคม) Environmental Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม) Financial Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านการเงิน) และ Occupation Health (ความสุขสมบูรณ์ด้านอาชีพ)
ขณะที่ ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ฟื้นฟูความงามเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ” ว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เติบโตเป็น 2 เท่า ในปี 2573 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นประเทศไทยควรจะส่งเสริม Wellness Tourism ให้ครบวงจรและเกิดขึ้นจริงทุกพื้นที่ เพื่อดึงลูกค้าจากกลุ่มที่นอกเหนือจากกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น กลุ่มที่มาประชุม สัมมนาต่าง ๆ ควรจะทำให้โรงแรม มีการบริการสปา การดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วน เพื่อทำให้คนที่มาประเทศไทยได้รับสุขภาพที่ดีกลับไป ซึ่งจุดแข็งของไทย คือมีอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ถูก เมื่อเทียบกับคุณภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะในผลิตภัณฑ์การให้บริการ ซึ่งในส่วนของภาครัฐได้เข้ามากำหนดนโยบายเพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่วนจุดอ่อน ยังขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและขาดการบริหารงานอย่างเป็นระบบ
“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีภาวะความเครียดมากมาย ทุกคนต่างแสวงหาวิธีการผ่อนคลาย ซึ่ง Wellness เป็นแนวทางการรักษาที่ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ นั่นถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ยิ่งขณะนี้ชนชั้นกลางมีการขยายตัวและมีรายได้ที่สูงขึ้น ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้จะเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา และผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและหลักสูตรเวชศาสตร์ความงาม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บรรยายพิเศษ เรื่อง Wellness จิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญ สำหรับระบบสาธารณสุข ว่า สถานการณ์ Wellness ในประเทศไทย กำลังเติบโตอย่างมาก และเป็นโอกาสทางธุรกิจของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเวชศาสตร์ชะลอวัยและ Wellness ไม่ใช่ศาสตร์หลอกลวง มีพื้นฐานที่มาที่ไปจากวิทยาศาสตรการแพทย์ จับต้องได้และทำได้จริง และน่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของ Primary Health Care, Functional Family Medicine, True Preventive Medicine ที่จะเป็นแกนหลักที่นำไปสู่ TRUE HEALTH FOR ALL
“Wellness เป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่แพทย์ก็สามารถเรียนได้ ถือเป็นจิ๊กซอร์สำคัญ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น เพราะ Wellness เป็นการปรับปรุงวิถีชีวิตรอบด้าน ดังนั้นการเปิดศูนย์ DPU Wellness Center จะเป็นโมเดลที่ทำให้ทุกคนเกิดไอเดียในการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพของตนเอง” ผศ.นพ.มาศ กล่าว
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวถึง ทิศทาง Wellness ในประเทศไทย ว่า การเรียนการสอนของแพทย์ไม่ได้มีการบรรจุเกี่ยวกับศาสตร์ทางเลือก หรือ Wellness ทำให้การทำหน้าที่ของแพทย์มุ่งไปสู่การรักษามากกว่าการป้องกันและฟื้นฟู ปัจจุบัน สธ. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ และพยายามจะผลักดันให้มีการดูแลสุขภาพที่เป็นบทบาทของทุกคน แต่ต้องยอมรับว่าทิศทางของงบประมาณจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการรักษา
“นโยบายของ สธ. จะมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดีเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จึงได้มีการสนับสนุนและพยายามหาโมเดลในการดำเนินการเรื่อง Wellness Center ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในส่วนของสถานพยาบาล แต่จะขยับไปสู่โรงแรม ร้านอาหาร สปา และทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน โดยใช้ความเป็นไทยบริหารการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนที่มาประเทศไทยมีความมั่นใจในระบบประกันสุขภาพของไทย ที่สำคัญการมีสุขภาพดีสามารถยกระดับเรื่องเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นได้” นพ.ธงชัย กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์