วช. ร่วมกับ มสธ. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประเมินตนเองในคลังสารสนเทศดิจิทัลตามมาตรฐานสากลเนสเทอร์ซีล (Nestor Seal)”
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประเมินตนเองในคลังสารสนเทศดิจิทัลตามมาตรฐานสากลเนสเทอร์ซีล (Nestor Seal)” โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวด้วย
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการจัดการข้อมูลผลการวิจัยของคลังสารสนเทศตามมาตรฐานที่กำหนด และยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล เนื่องจากบทบาทของคลังสารสนเทศมีความสำคัญมากสำหรับการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เพื่อให้บริการข้อมูลที่เชื่อถือได้และยั่งยืน ทุกประเทศที่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลผลงานวิจัยให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลเปิดได้อย่างเสรี เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และเพื่อการเข้าถึงข้อมูลได้ในระยะยาว มาตรฐานการจัดการข้อมูลผลงานวิจัย จึงเป็นเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อการรับรองคุณภาพการจัดการข้อมูลผลงานวิจัยเพื่อให้มั่นใจในความน่าเชื่อถือของคลังสารสนเทศดิจิทัล ซึ่งมีกระบวนการจัดการข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูลที่ให้บริการ เพื่อสนับสนุนความโปร่งใสของข้อมูล (fair data) การใช้ข้อมูลซ้ำ (data reuse) และการแลกเปลี่ยนข้อมูล (data sharing) ที่มาจากการวิจัยเพื่อให้บริการการเข้าถึงข้อมูลได้ในระยะยาว จากเหตุผลดังกล่าว วช. โดยกองมาตรฐานการวิจัยฯ ได้มอบทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการคัดเลือกมาตรฐานสากลในการจัดการข้อมูลผลการวิจัยในคลังสารสนเทศดิจิทัล ให้กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน เป็นหัวหน้าโครงการ และในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะทำงานติดตามและประเมินผลทางวิชาการโครงการพัฒนามาตรฐานการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัลสู่มาตรฐานระดับชาติ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ และให้ข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ดร.ยรรยง เต็งอำนวย และ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
ดร.ยรรยง เต็งอำนวย กล่าวว่า การพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลของไทยตามแนวทางของโครงการวิจัยที่มุ่งสู่มาตรฐานระดับสากล ถือเป็นแนวทางที่ดีเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ในอนาคต ข้อมูลและสารสนเทศที่จะให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและเป็นคลังความรู้ของชาติไม่สูญหายไปไหน
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กล่าวว่า ขอให้นักวิจัยและหน่วยงานต้นแบบได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของคลังสารสนเทศและการให้บริการข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่พร้อมอยู่เสมอจะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการค้นคว้าวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยปัจจุบันข้อมูลและสารสนเทศต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การบริหารจัดการสารสนเทศดิจิทัลที่ดีและมีมาตรฐานจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เกิดการค้นคว้าและพัฒนางานส่วนอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวขอบคุณหน่วยงานต้นแบบว่า วช. ขอขอบคุณหน่วยงานต้นแบบที่ร่วมกันดำเนินงานและให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี และพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลของหน่วยงานจนประสบความสำเร็จ ได้รับการรับรองมาตรฐานคอร์ทัสซีล ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล ถือเป็นต้นแบบให้หลายๆ หน่วยงานหันมาให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลที่มีมาตรฐานและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้
จบการประชุมฯ นายสมปรารถนา สุขทวี ให้เกียรติมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีให้กับหน่วยงานต้นแบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลคอร์ทรัสซีล จาก สำนักงาน Data Archiving and Networked Services (DANS) ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ คลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซี่งเป็นคลังสารสนเทศดิจิทัลในมหาวิทยาลัยสองแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลคอร์ทรัสซีล
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ