ผู้เชี่ยวชาญจุฬาฯ แนะภาคอุตสาหกรรม “No Data, No Market” และ เปิดตัวหลักสูตรออนไลน์แห่งแรกด้านความปลอดภัย Chemical Hazard and Safety Management
ศาสตราจารย์ ดร.วรวีร์ โฮเว่น หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) และ ดร. ผาณิต เสรีบุรี CEO บริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและคอร์สออนไลน์ Upskill Reskill ภายใต้แบรนด์ Achieve+ ได้ร่วมเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์แห่งแรกด้านความปลอดภัย Chemical Hazard and Safety Management ในงานสัมมนาวิชาการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยภาคตะวันออกประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม Nikko Amata City Chonburi โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานได้แก่ นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ
ภายในงานยังมีการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ จากสถานศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรม และ อัพเดทกฎหมายใหม่ด้านความปลอดภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุรชัย พรภคกุล ดร.ขวัญนภัส สรโชติ และ ดร.องอาจ ธเนศนิตย์ นักวิจัย อาจารย์ และ ผู้เชี่ยวชาญได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการความปลอดภัย จากอุบัติเหตุด้านเคมีสำคัญ อาทิ เหตุการณ์ระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุตประเทศเลบานอน ที่มีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และ ได้รับผลกระทบจำนวนมาก หรือ กรณีเหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่ซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2564 ที่ทำให้มีการอพยพผู้อาศัยในรัศมี 5 กม.ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้เน้นย้ำว่า “สารเคมีมีทั้งคุณและโทษ หากรู้จักและศึกษาสารเคมีอย่างดีแล้ว จะสามารถควบคุมภัยอันตรายและอยู่ร่วมกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย สำหรับภาคอุตสาหกรรม อยากเชิญชวนให้ทำความเข้าใจกับกฎหมายใหม่ ร่างพระราชบัญญัติสารเคมี ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งได้ถอดแบบมาจากกฎหมาย REACH (Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals) ของสหภาพยุโรป โดยมีหลักการสรุปสั้น ๆ ว่า [No Data No Market] แปลว่า ผู้บริโภคจะยอมรับสารเคมีจากผู้ประกอบการที่มีการแสดงและสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น เพราะการแสดงข้อมูลของสารเคมีที่ดีตั้งแต่ต้นทางผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ตลอดไปจนถึงปลายทางที่ผู้ใช้ และ การปรับปรุงข้อมูลของสารเคมีให้ทันสมัยอยู่เสมอ จะนำไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยและธุรกิจที่ใช้สารเคมีอย่างยั่งยืนนั้นเอง”
กิจกรรมการเสวนาและการเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวความร่วมมือสำคัญ ที่ภาคการศึกษาจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และ เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Safety & Smart city แล้ว ทางบางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จะเข้ามาช่วยเสริมในมุมของ Smart Education and Lifelong learning Platform อีกด้วย
ที่มา: บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์