ม.มหิดล ชุบชีวิตวิกฤติโรคท้องร่วงในประชากรโลก ส่งเสริมปลูก “พริกไทยดำ” ทำยาใหม่เสริมวิจัยรักษาตรงจุดเฉพาะราย

ม.มหิดล ชุบชีวิตวิกฤติโรคท้องร่วงในประชากรโลก ส่งเสริมปลูก “พริกไทยดำ” ทำยาใหม่เสริมวิจัยรักษาตรงจุดเฉพาะราย

“ความกลัว” มักเกิดขึ้นจาก “ความไม่รู้” เช่นเดียวกับเวลาที่ต้องเดินอยู่ในความมืด และเข้าไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน แล้วรู้สึกกลัวว่าจะต้องเดินไปชนอะไรที่ไม่รู้เข้า

“นักสรีรวิทยา” เปรียบเหมือนผู้นำตะเกียงส่องทางเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเปรียบเหมือนดินแดนอันลี้ลับที่รอคอยการค้นพบ จากการศึกษาการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายที่ทำหน้าที่สอดประสานกัน เพื่อทำนายการเกิดโรคที่ซ่อนไว้หรืออาจไม่มีผู้ใดเคยค้นพบวิธีการรักษามาก่อน เพื่อขจัด”ความกลัว” หรือ “ความไม่รู้” ให้มลายหายไป

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นักสรีรวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี2565 สรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

โดยเป็นผู้ทุ่มเทเวลากว่าทศวรรษในการไขความลับโรคท้องร่วงด้วยศาสตร์แห่งสรีรวิทยา จนสามารถค้นพบกลไกการเกิดโรค และสร้างเป็นโมเดล หรือแบบจำลองจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ที่ได้จากผู้ป่วยโรคท้องร่วงในห้องปฏิบัติการเพื่อทดลองยาใหม่ที่ใช้รักษาได้อย่างตรงจุดเฉพาะราย

จากการค้นพบนี้สามารถตอบคำถามที่ว่า ทำไมแพทย์จึงจำเป็นต้องออกแบบการรักษาให้กับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองทางยาที่ไม่เหมือนกันด้วย

ในขณะที่ “โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย”(Genomics Thailand) เพื่อสร้างฐานข้อมูลโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรไทยกำลังเดินหน้า การค้นหาวิธีการรักษา ตลอดจนคิดค้นยาใหม่เพื่อให้ผลการรักษาตรงจุดเฉพาะรายก็ดำเนินควบคู่กันไปด้วย

ซึ่งการศึกษากลไกการเกิดโรคท้องร่วงของผู้วิจัย เป็นการดูการทำงานภายในลำไส้ใหญ่ ถึงการหลั่งของ “สารคลอไรด์” ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมอาการท้องร่วง เพื่อแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขที่อยู่คู่ประชากรโลกในเขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคท้องร่วงที่เจริญเติบโตได้ดีในซีกโลกที่มีอุณหภูมิสูงมาช้านาน หรืออาการท้องร่วงที่เป็นผลข้างเคียงของยา หรือพบในโรคเรื้อรังต่างๆ ที่พบได้ในประชากรทั่วโลก

ก้าวต่อไป ผู้วิจัยมุ่งต่อยอดผลการศึกษาสู่การเพิ่มผลผลิต”พริกไทยดำ” ซึ่งได้ค้นพบแล้วว่ามีฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องร่วงและปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้เพาะปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการผลิตยาใหม่สนองนโยบาย BCG ของประเทศชาติต่อไป

แม้ปัจจุบันจะยังเป็นเพียงความสำเร็จในห้องปฏิบัติการ แต่ด้วยองค์ความรู้ทางสรีรวิทยาที่นับวันจะยิ่งเพิ่มค่าตลอดเวลาที่ผ่านมาของนักสรีรวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ศาสตราจารย์ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท เชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถทำให้ความหวังของมวลมนุษยชาติ ที่จะได้เห็นโลก”ตื่นจากความกลัว”

โดยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงของประชากรโลก และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลสู่ประเทศชาติ จากการเพิ่มผลผลิต “พริกไทยดำ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยาใหม่รักษาโรคท้องร่วงที่มีประสิทธิภาพ เสริมกำลังการวิจัยเพื่อให้การรักษาตรงจุดเฉพาะรายเป็นจริงได้ในที่สุดต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ