พีไอเอ็ม โชว์เทคโนโลยีสู่อนาคต ชูผลงาน “Outdoor Delivery Robot” โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ หวังยกระดับการขนส่งนอกอาคารที่ทันสมัย ไร้มลภาวะ
การส่งเสริมด้านนวัตกรรมเป็นอีกภารกิจของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ไม่เพียงนำเสนอสู่สายตาบุคคลทั่วไปแล้ว แต่ยังใช้ได้จริงและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยครั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ (Innovation and Invention Excellence Center : IIEC ) ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เป็นการรวมตัวของ อาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน มีเป้าหมายนำองค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ เป็นกลไกสร้างสรรค์ “Outdoor Delivery Robot” หุ่นยนต์ส่งของนอกอาคารตัวแรกมาพร้อม 3DLidar เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีเซ็นเซอร์ 360 องศา สามารถคำนวนระยะพื้นได้แม่นยำ การเคลื่อนที่แบบ 4 ล้ออิสระ ออกแบบมาให้วิ่งบนพื้นผิวขรุขระและพื้นที่ลาดเอียงได้สูงถึง 40 องศา ปลอดภัย ทันสมัย ไร้เสียง ไม่สร้างมลภาวะ และใช้ระบบชาร์จพลังงานไฟฟ้า ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน “Outdoor Delivery Robot Application” ซึ่งนับเป็นก้าวเริ่มต้นอันสำคัญของทาง IIEC ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตขึ้น อีกทั้งได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต และปรับตัวทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า “สำหรับส่วนรับผิดชอบของผมคือบริหารจัดการให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย วางแผนและเป็นที่ปรึกษาทุกส่วนทั้งหน่วยงานภายในและเครือข่ายภายนอก บริหารบุคลากรในทีมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงไอเดียเต็มที่ เริ่มจากที่เรามองเห็นปัญหาการขนส่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 เลยคิดหานวัตกรรมอะไรที่จะส่งของให้ปลอดภัยและสะดวกที่สุด นี่ถือเป็นความท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน จากนั้นนำเอา Pain point มาวิเคราะห์และค่อยๆ พัฒนา ระหว่างทางทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น การออกแบบดีไซน์ การเขียนโค้ด การเขียนโปรแกรม จาก Technology Expert ไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอน Work-based Education ที่เป็น Identity ของพีไอเอ็ม จากการได้ลงมือทำจริงนักศึกษาจะเห็นภาพการทำงาน สนุกกับโจทย์ไม่ซ้ำแต่ละวัน เขาจะได้เปิดโลกว่ายังมีอะไรน่าค้นหาอีกมาก เงินก็ซื้อประสบการณ์เหล่านี้ไม่ได้”
ไม่เพียงแค่เทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการผลิตเท่านั้น Outdoor Delivery Robot ได้ผสมผสานการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมและการดีไซน์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือภายในคณะวิชาโดย อาจารย์ดนัยเลิศ ติยะรัตนาชัย สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เป็นผู้ออกแบบสกินหรือโครงหุ้มภายนอก (Graphic + Animation Designer, Skin Designed) ได้กล่าวว่า “เริ่มต้นจากวางแผนกับทีมเพื่อหาทิศทางว่าจะออกแบบอย่างไรให้ลงตัวกับโครงสร้างของหุ่นยนต์ด้านในมากที่สุด ผ่านการแก้ไข ปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้ง จนได้รูปลักษณ์ที่พอใจ จะเห็นว่าหุ่นยนต์โดดเด่นด้วยไฟหน้าขนาดใหญ่ ให้ความสว่าง ทันสมัย และใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้เสริมอีกว่าการเพิ่มองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ดังกล่าว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ ฝึกคิด วิเคราะห์ และเข้าใจบนพื้นฐานความต้องการจริง และปฎิบัติลงลึกไปถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่นำความรู้ไปใช้ต่อวิชาชีพในอนาคตอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ด้านระบบการทำงานของหุ่นสร้างสรรค์โดย Specialist Engineer (CAD/CAM Design + Electronic) เจ้าหน้าที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ บัณฑิตป้ายแดงจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ได้แก่ “เบส” นายธิติวุฒิ พิมพิสัย ควบคุมเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมด พร้อมเขียนโปรแกรมการเคลื่อนไหว การเขียนแผนที่โดยใช้ 3DLidar เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีเซ็นเซอร์หมุนรอบตัวเอง 360 องศา สามารถคำนวนระยะทางพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ พร้อมระบบนำทางทรงประสิทธิภาพ เบสกล่าวว่าได้ประสบการณ์การทำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ใช้ ทุกสิ่งท้าทายมากเพราะหุ่นแบบนี้ยังไม่มีใครเคยทำ จึงต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลเองแล้วนำมาปรับใช้ ค่อยๆ พัฒนาทีละขั้น ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนผลงานออกมาเป็นที่พอใจ ทางด้าน “ถุงเงิน” นายพิชญุตม์ ควันทอง ออกแบบและผลิตโครงสร้างใช้ทักษะหลายศาสตร์ อาทิ เครื่องกล ไฟฟ้า อิเลกทรอนิกส์ ฟิสิกส์ รวมถึงใช้ซอฟต์แวร์ Solidwors จำลองโมเดล 3 มิติที่เห็นชิ้นงานก่อนผลิตจริง เพื่อสนับสนุนให้โครงสร้างปลอดภัย และย่นระยะเวลาทำงาน ในขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากงานนี้ก็คงเป็นการเอาสิ่งที่เรียนมาผนวกกับประสบการณ์ฝึกงานต่อยอดการทำงานได้ดีทีเดียว อนาคตอาจจะเจองานที่ยากกว่าแต่จะรับมือและรู้ว่าอะไรนำมาประยุกต์ใช้ได้ ในแง่ของบริหารการจัดการได้มุมมองการดูแลน้องๆ ฝึกงาน ให้คำแนะนำ เป็นปรึกษาในฐานะพี่เลี้ยง
อีกส่วนที่ขาดไม่ได้นั่นคือแอปพลิเคชัน Outdoor Delivery Robot ใช้ร่วมกับหุ่นยนต์ ซึ่งผู้พัฒนาต้องการตอบสนองไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้งของคนปัจจุบัน สร้างแอปพลิเคชันเพื่อบริการซื้อสินค้าและส่งด้วย Feature ใช้งานสะดวกไม่ซับซ้อน และออกแบบฟังก์ชันเปิด-ปิดฝากล่องให้ปลอดภัย ป้องกันความสับสนตอนหยิบสินค้า ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของ Mobile Applications Developer (Android Application) 2 นักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม นั่นคือ “วิว” นางสาวพัทรนันท์ พิมพ์สุภางค์ และ “ภูมิ” นายดุลยวิชญ์ ปานกลาง ที่อยากสร้างประสบการณ์ที่ดีของการซื้อสินค้าด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างพนักงานกับลูกค้า ทั้งยังช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เล่าว่าไม่เคยเขียนแอปพลิเคชันมาก่อน พอได้ทำจริงๆ ไม่ยากอย่างที่คิด ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำอีกหลายอย่าง เห็นการทำงานของอาจารย์และรุ่นพี่ก็เก็บมาพัฒนาตัวเอง เช่น การเขียนโค้ดโปรแกรม เรียนรู้รับผิดชอบมากขึ้น รู้จักจัดกระบวนการคิด การวางแผน การบริหารเวลา สามารถยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ และสิ่งสำคัญคือได้ลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่านจากตำราเรียนอย่างเดียวนี่แหละหาไม่ได้จากที่ใด
จากข้อมูลข้างต้น Outdoor Delivery Robot เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม Made in PIM อย่างแท้จริง หากขาดปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งไปก็คงไม่สมบูรณ์ ทุกส่วนล้วนเป็นจิกซอว์ประกอบกันจนสำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ พีไอเอ็ม คาดหวังให้หุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นต้นแบบหรือแรงจูงใจต่อการรังสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนวัตกรรมเองนั้นจะเป็นเหมือนฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิมที่ให้พัฒนายิ่งขึ้น และยังช่วยสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับห่วงโซ่ของประเทศได้ต่อไป
ที่มา: สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์