ม.มหิดล ชี้ทางออกวิกฤติ COVID-19 สร้าง “Social Lab” เสริมแกร่งสุขภาวะชุมชน ก่อนขยายผลสู่ระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน

ม.มหิดล ชี้ทางออกวิกฤติ COVID-19 สร้าง “Social Lab” เสริมแกร่งสุขภาวะชุมชน ก่อนขยายผลสู่ระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน

ปัญหาทางสุขภาวะของประเทศไทยในชนบทที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงโดยมีสาเหตุสำคัญจาก “ปัญหาทางพฤติกรรมสุขภาพ” ด้วยการใช้องค์ความรู้ทาง “สุขศึกษา” จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งสามารถขยายผลสู่ระดับประเทศและภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ ผู้มีประสบการณ์จากการบริหารวิจัยในระดับนานาชาติ มาประยุกต์ใช้กับชนบท ด้วยการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนด้านการส่งเสริมสุขภาวะ

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นภาควิชาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึงเกือบ 6 ทศวรรษในการจัดการเรียนการสอนการวิจัย และบริการวิชาการ ส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนในชนบทด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาพบว่านักวิจัยสุขภาวะชุมชนยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่าที่ควร เนื่องจากขาดความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการ และวิจัย จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงที่จะคอยกระตุ้น และให้คำปรึกษา เพื่อให้สามารถตั้งต้นทางวิชาการ และทำงานส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนในภูมิภาคต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเริ่มต้นที่วิทยาเขต 3 แห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ และกาญจนบุรี ไปพร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายสุขภาวะในภูมิภาค โดย ศาสตราจารย์ดร.สุภา เพ่งพิศ มองว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียนเรื่องการปรับตัวช่วงวิกฤติ COVID-19 ในภาพรวม แต่ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาวะของประชาชนในชนบท ถึงเวลาแล้วที่นักวิจัย และนักวิชาการจะต้องลงชุมชนไปดูว่าประชาชนในชนบทอยู่กันอย่างไร ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาความยากจน และผู้สูงวัยยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อย

“การให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาได้มาร่วมมือกับนักวิจัย และนักวิชาการในพื้นที่ มาร่วมสร้าง “Social Lab” หรือ”ห้องปฏิบัติการทางสังคม” เพื่อสร้างความเข้มแข็งและแก้ปัญหาทางสุขภาวะของประเทศกันอย่างจริงจัง จะสามารถขยายผลไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนหรือภูมิภาคอื่นในโลกต่อไปได้ ที่สำคัญจะต้อง “เปิดใจ” พร้อมเชื่อมต่อประสบการณ์ปรับตัวต่อสู้วิกฤติ COVID-19 ของต่างประเทศด้วยจึงจะสามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน” ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ