“CRA Digital Health” เสวนาเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของผู้คนในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีการปรับตัวทางเทคโนโลยีในระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการรักษาโรคด้วยแนวทางใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการเตรียมรับมือ ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์และสุขภาพที่ทันสมัยอย่างทั่วถึง การเตรียมพร้อมในด้านการสร้างบุคลากรในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญ เสริมทักษะความรู้ดิจิทัลเฉพาะเพิ่มเติมในการทำงานของโลกยุคปัจจุบัน จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะก้าวสู่ความสำเร็จในระยะยาว
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี เพื่อความเป็นเลิศในทุกชีวิต ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดงานเสวนาแบบไฮบริด “CRA Digital Health” เปิดมุมมอง-สร้างทักษะดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งยุคศตวรรษที่ 21 พร้อมเปิดตัวหลักสูตร CRA Digital Health Program หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ณ สตูดิโอเนชั่น ทาวเวอร์ และออนไลน์ผ่านทางช่อง CRA Chulabhorn Channel โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มุมมองวิสัยทัศน์ภาพรวมดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยในหัวข้อ Digital Health Transformation และการขับเคลื่อนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการส่งเสริมการพัฒนา Digital Health Initiatives ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ พร้อมด้วย ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเปิดมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการแพทย์แห่งอนาคตของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่รองรับการสร้างทักษะและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล และเปิดตัวหลักสูตรน้องใหม่ CRA Digital Health Program โดยร่วมเสวนากับคณาจารย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เผยภาพรวมดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยว่า “จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลากหลายรูปแบบ โดยภาพรวมของดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้น อาทิเช่น การนำระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง Machine Learning และ AI ปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการข้อมูลเชิงเวชสารสนเทศ มุ่งเน้นการสร้างบริการสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงได้ผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น การพัฒนาและต่อยอดระบบ Telemedicine ให้สอดคล้องกับกระบวนการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การลงทุนในระบบ IT Infrastructure เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเร่งด่วนให้สามารถขยายบริการสาธารณสุขในแบบดิจิทัลได้อย่างคล่องตัว เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT เพื่อเปิดช่องทางการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่นำไปสู่การรักษาในเชิงรุกจากทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งการพัฒนาระบบ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการก็ได้รับความสำคัญสูงเช่นกัน การให้ความสำคัญกับสุขภาพดิจิทัล ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะด้านสุขภาพดิจิทัลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขไทยสามารถวางแผนโครงการ Digital Health Transformation ในระบบบริการสุขภาพที่ก้าวสู่ความสำเร็จในระยะยาว”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ ยังได้กล่าวถึงเพิ่มเติมถึงการขับเคลื่อนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นองค์กรที่นำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี เพื่อความเป็นเลิศในทุกชีวิต โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2570 ที่จะปฏิรูปราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสุขภาพสู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ นำการบริหารจัดการไปสู่ Digital Ecosystem โดยเชื่อมต่อหลายระบบ หลายบริการเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้รับบริการในแต่ละกลุ่มและเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการที่สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ล่าสุดได้พัฒนาและจัดทำหลักสูตร “CRA Digital Heath” เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และวางรากฐานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่จะช่วยพัฒนาบริการสุขภาพสู่คนไทยทุกคน
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวแนะนำหลักสูตรน้องใหม่ CRA Digital Health Program “หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบบริการสุขภาพในเร็ววัน ด้วยวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล จะทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากความรู้ด้านวิชาการความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละสาขาอาชีพแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความทันต่อโลกของข้อมูล และคิดแบบดิจิทัล สามารถค้นหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง และเชี่ยวชาญการรักษาควบคู่กับการทำวิจัยสร้างนวัตกรรม โดยในหลักสูตร CRA Digital Health Program ของเราได้มุ่งเน้นการติดอาวุธด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึง และยั่งยืนสำหรับทุกคน”
หลักสูตร CRA Digital Health Program มีอาจารย์ประจำหลักสูตรที่เปี่ยมไปด้วยคุณวุฒิ อาทิ อาจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ (ประธานหลักสูตร) , อาจารย์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ (อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร) , อาจารย์ ดร.ปณิธิ อัจฉราฤทธิ์ (อาจารย์ผู้สอน) ทั้งสามท่านเผยว่า หลักสูตรสุขภาพดิจิทัลนี้ ผู้ที่ได้เรียนจะสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านข้อมูลสุขภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันเรื่องของ Digital Transformation ได้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าเรามองทางด้านวงการสาธารณสุขบ้าง เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ทุกคนเคยได้ยินกัน เรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics ที่นำมาใช้ร่วมกับเรื่องของ Machine Learning ทั้งหมดนี้จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานด้านสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต หลักสูตร Digital Health นี้ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวการพัฒนาและต่อยอดระบบ Telemedicine สำหรับการติดตามสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์สุขภาพดิจิทัลที่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจารย์ นพ.ธนพล ชอบเป็นไทย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ สาขามะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้นำเสนอนวัตกรรม OSCEsim GAME ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเรียนการสอนในโลกเสมือนจริงของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคที่ต้องปรับระบบการเรียนการสอนมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ของนักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เพื่อฝึกหัดให้นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสได้เข้าทำหัตถการการตรวจรักษาคนไข้ต่างๆ เสมือจริงผ่าน นวัตกรรม OSCEsim GAME
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปัจจุบันเปิดสอนหลากหลายหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ (พ.ศ.2563) โดยความร่วมมือกับ University College London (UCL) เรียน 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาข้อมูลสุขภาพ (Health Data Science) หลักสูตรร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ และในปีการศึกษา 2565 นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัลแล้ว ยังเปิดหลักสูตรใหม่อีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการระหว่างสาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา เพื่อสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังที่มีสมรรถนะดิจิทัล มีศักยภาพในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคผิวหนัง โดยมุ่งเน้นโรคผิวหนังที่เป็นปัญหาในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมกับวิสัยทัศน์ของทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนที่เป็น “ผู้ให้ ผู้พัฒนา ผู้รักษาแห่งอนาคต”
ติดตามรับชมงานเสวนา CRA Digital Health ได้ที่ช่อง Youtube CRA Chulabhorn Channel https://www.youtube.com/watch?v=_y2KW4VukGY&t=2702s
ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์