มช. เปิดอาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract แห่งแรกของประเทศไทย

มช. เปิดอาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract แห่งแรกของประเทศไทย

การนำเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมในการผลิตอย่างเป็นระบบที่คำนึงถึงประสิทธิภาพ การบริหารจัดการและนำมาปรับใช้ในกระบวนการ เพื่อพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านอาหารมีการเติบโต ล่าสุดได้เปิดอาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมรองรับการต่อยอดสกัดสารออกฤทธิ์ในพืชเศรษฐกิจ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับ คณะผู้บริหาร นักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดเกิดการขยายผลทางเศรษฐกิจต่อไปมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

อาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract และโรงงานต้นแบบสารสกัดพืชกระท่อมคุณภาพสูงภายใต้การบริหารจัดการและดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผลักดันให้เกิดศักยภาพในการคิดค้นและพัฒนาการสกัดสารมูลค่าสูง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของพืชเศรษฐกิจใหม่ที่หลายสถาบันให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อให้ได้สารสกัดที่มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Dietary Supplement) อุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical) และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Cosmetics and Personal Care) รวมถึงการต่อยอดในการสกัดสารออกฤทธิ์ในพืช เช่น กัญชา กัญชง หรือกระท่อมได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น “ผู้นำด้านการสกัดสารมูลค่าสูงที่มีความบริสุทธิ์สูง” วางรากฐานเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนในการปลูก การดูแล การเพาะปลูก การแปรรูปพืชกระท่อม และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรพืชกระท่อมแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การผลิตสารสกัดพืชกระท่อมที่มีคุณภาพ

ด้วยความพร้อมของอาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract ที่มีครุภัณฑ์ชุดสกัดสารมูลค่าสูงและเครื่องมือ อันได้แก่ ชุดสกัดที่ใช้ตัวทำละลาย ชุดสกัดที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถทำความดันได้สูงถึง 600 บาร์ และเครื่องกลั่นแยกสารระดับโมเลกุลแบบฟิล์มบางพร้อมปั๊มสุญญากาศ ขนาด 2 นิ้ว Wiped-Film Still With Vacuum Pump จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสารสกัดพืช บรรลุเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ ตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การพัฒนาสังคมได้ในหลากหลายมิติ ผสานความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่แตกต่าง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ ที่จะนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ