ม.พะเยา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่น ออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ

ม.พะเยา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่น ออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ

ม.พะเยา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่น ออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ

วันอังคารที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดกิจกรรม การพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือ การประชุมแผนงานและการสร้างความร่วมมือการทำงานระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวแนะนำหน่วยงานโดย ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย คุณเรอโนด์ เมแยร์ และ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ณ โรงแรม M2 Hotel Waterside

อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพเป็นสาเหตุและผลกระทบของปัญหาสังคมหลายปัญหา เช่น ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง ๑ ใน ๓ ของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศอย่างน้อย ๑ ครั้งในช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเธอ ผู้หญิงในพื้นที่ชนบทหลายคนยังทำงานที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ เรายังคงเห็นช่องว่างทางเพศสภาพขนาดใหญ่ในเรื่องของการเข้าถึงโอกาสในการตัดสินใจและการเป็นผู้นำของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาอีกมากมายทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้สามารถได้รับการแก้ไขได้ด้วยการประสานความร่วมมือและการพัฒนาเชิงพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๕ หรือ SDG5 (Gender equality ความเท่าเทียมทางเพศ) นโยบายและกฎหมายระดับชาติก็ได้รับการออกแบบและกำหนดเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะเดียวกัน ชุมชนท้องถิ่นจะได้ดำเนินงานเพื่อบรรเทาและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในวิถีของตนในการแก้ปัญหานี้ต่อไป

การดำเนินกิจกรรมในวันนี้ ได้รับความร่วมมือกับผู้ร่วมจัดงาน โดยจะมีการทำกิจกรรม Work Shop ซึ่งได้จัดเตรียมชุดเครื่องมือ แนวปฏิบัติ และกิจกรรมสำหรับการทดลองออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการอบรมเชิงปฏิบัติการ แต่ยังเป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะเชิงนวัตกรรม ที่จะได้เรียนรู้อย่างประสบความสำเร็จ ออกแบบ และทดลองไอเดียของนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศต่อไป

ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ