สอวช. สะท้อนบทบาทการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย  ชี้แนวทางจัดการศึกษาตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับสังคมสูงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สอวช. สะท้อนบทบาทการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย ชี้แนวทางจัดการศึกษาตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับสังคมสูงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมการประชุม “เข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย” EdCompass : Empowered Education ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ วังพญาไท กรุงเทพมหานคร และได้ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “เปิดข้อเท็จจริงการศึกษาไทย ผ่านข้อมูลและผลงานวิจัย เพื่อกำหนดเข็มทิศการศึกษา” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 โดยการประชุมในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ในประเด็น “บทบาทอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) กับการพัฒนาการศึกษาของประเทศ” ดร. กาญจนา ได้แลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อระบบกำลังคนและรูปแบบการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยและความหลากหลายของขั้นชีวิต จากการที่มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้น เด็กที่เกิดในปัจจุบันอาจมีอายุยาวถึง 100 ปี ทำให้การใช้ชีวิตถูกปรับรูปแบบเป็นชีวิตที่มีหลายขั้น (Multi-stage Life) หนึ่งคนอาจทำได้มากกว่าหนึ่งอาชีพตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นในแต่ละช่วงชีวิตอาจมีทั้งการศึกษาและการทำงานผสมผสานกัน ซึ่งจะมีผลต่อการออกแบบการเรียนการสอนที่ต้องปรับเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ส่วนต่อมาคือการพลิกผันจากเทคโนโลยี (Technology disruption) ตามที่ World Economic Forum (WEF) คาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 งานประมาณ 85 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง โดยงานที่มีความต้องการมากขึ้นจะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เร่งให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลและมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกับความต้องการกำลังแรงงานและการจ้างงาน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ผลจากการวิจัยพบว่า ถ้าหากเด็กมีโอกาสอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้นจะมีโอกาสหลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้ นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์อื่นๆ เช่น ช่องว่างระหว่างวัย, แนวโน้มเศรษฐกิจแบบใหม่ Gig Economy, การเปลี่ยนขั้วอำนาจสู่โลกตะวันออก, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาทักษะ การเตรียมกำลังคนและแนวทางอาชีพในอนาคต รวมถึงทิศทางของระบบอุดมศึกษาไทย

สำหรับทิศทางการปรับตัวของระบบอุดมศึกษาไทยในมุมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากการปฏิรูปด้วยการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เดิม) มารวมกับสถาบันอุดมศึกษา จึงต้องพยายามมองในเชิงระบบ การสร้างระบบนิเวศ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และในเรื่องข้อมูลต้องเปิดเผยมากขึ้นเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล ส่วนของการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงจาก Content-based ไปสู่ Competency-based สร้างการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลักมากกว่าเนื้อหาที่เรียน มีการออกแบบโมเดลการศึกษาร่วมกับเอกชน และการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ด้านผลลัพธ์และผลกระทบ ต้องมองถึงการเตรียมคนไทยให้เป็นนานาชาติมากขึ้น สร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล การเพิ่มการเข้าถึง กระจายโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และทุนมนุษย์ ในส่วนสุดท้ายคือการสร้างระบบสนับสนุน ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน เช่น การจัดตั้งหน่วยงานกลางสำหรับการสะสมหน่วยกิต นโยบายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ เป็นต้น

ตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงระบบ อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่ง สอวช. สนับสนุนกระบวนการคาดการณ์อนาคต (Foresight) และ Policy Acceleration การจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง นำไปสู่การกำหนดร่างเป้าประสงค์และผลลัพธ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรในพื้นที่ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังได้มีการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีพัฒนาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อใช้เป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รองรับการเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพสู่คุณวุฒิการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเป็นการพัฒนาต้นแบบระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัลที่สามารถเทียบโอน สะสมหน่วยกิต พัฒนาและเปลี่ยนแปลงทักษะ และขยายการใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัลไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งด้วย

ด้านการสนับสนุนข้อมูลและแพลตฟอร์ม เพื่อวางแผนการพัฒนากำลังคนของประเทศ กระทรวง อว. ได้มีการรวบรวมและแสดงทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละตำแหน่งงาน (Skill Mapping) ใน 4 สายงาน ได้แก่ Smart Farmers, Smart SME (เน้นทักษะด้าน Digital Marketing), Health Science และการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (Tourism) ผ่านทางเว็บไซต์ https://skill-mapping.ops.go.th/ นอกจากนี้ สอวช. ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องกำลังคนที่มีความสามารถสูงของประเทศไทย (Talent Thailand) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลกำลังคนที่มีความสามารถสูงในประเทศ โดยมีระบบประมวลผลและเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ https://talent.nxpo.or.th และการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ สำหรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบัน กระทรวง อว. มีกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เพื่อเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งจากสถานการณ์ประชากรกลุ่มฐานรากในประเทศไทย พบว่ากลุ่มที่ยากจนที่สุด มีประมาณ 15 ล้านคน ในกลุ่มนี้เป็นเด็กและเยาวชน 3.72 ล้านคน วัยทำงาน 7.48 ล้านคน ผู้สูงอายุ 3.89 ล้านคน และประมาณ 1 ล้านคนเป็นผู้พิการ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา แนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก จึงต้องเริ่มตั้งแต่การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา การรักษาคนให้อยู่ในระบบการศึกษา ไปจนถึงการต่อยอดโอกาสสู่การขยับสถานะทางสังคม

นอกจากนี้ ดร. กาญจนา ยังกล่าวถึงการวิจัยเชิงระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก โดยแนวทางการสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสควรมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกับอาชีพและการมีรายได้ (Career-based Education) ผ่านตัวอย่างโมเดลการร่วมพัฒนากำลังคนด้านอาชีวะในอุตสาหกรรมโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง และโมเดล Premium Course โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (RMUT)

อย่างไรก็ตาม การจัดงานวันนี้ยังได้มีการประกาศเจตนารมณ์ยกระดับสภาการศึกษาสู่การเป็นศูนย์กลางงานวิจัย ด้านการศึกษาระดับนานาชาติ โดย ดร. คุณหญิงกัลยา และ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมทั้งมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน OEC Knowledge (OECK) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสาระความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเทรนด์การศึกษาใหม่ๆ สำหรับทุกช่วงวัย โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ผ่านทาง App Store และ Google Play Store

ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ