คณะบัญชี จุฬาฯ พลิกบทบาทการศึกษายุค Metaverse ปั้นนักบริหารก้าวสู่โลกใบใหม่อย่างชาญฉลาด
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) ยังคงมุ่งมั่นยกระดับระบบการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น จากศูนย์กลางองค์ความรู้สู่ความฉลาดสมัยใหม่ ผลิตผู้นำธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
ล่าสุด คณะบัญชี จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนาธุรกิจ “Chula Masterverse 2022: Meeting Business Masters in the Metaverse Era” ระดมมาสเตอร์ กูรู จากหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันมุมมอง และเสนอแนะแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นถึงโลกใบใหม่ในการทำธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Metaverse ฉะนั้น การจัดงานครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่นำเสนอความรู้ แต่ต้องการนำเสนอ Innovative Wisdom
รองศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) กล่าวในงานเสวนาว่า เมื่อคนกำลังเข้าสู่ยุค Metaverse หรือที่เรียกว่า จักรวาลนฤมิตร ที่พัฒนาจากเทคโนโลยี VR/AR ทำให้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการตลาดมากมาย สิ่งที่น่าสนใจคือ การทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ และต้องตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นจึงจะจัดการกับโลกอนาคตได้ ในฐานะเสาหลักการศึกษา จึงได้ระดมพลเหล่ามาสเตอร์มาร่วมกันคิด ร่วมแชร์และผันจาก Metaverse ให้กลายเป็น Masterverse จักรวาลแห่ง นักคิด
จะเห็นได้ชัดเจนว่า บิ๊กดาต้าที่ทำให้ทราบพฤติกรรมผู้บริโภคจากข้อมูลมหาศาลบนโลกจริง จะไม่สามารถใช้ได้กับโลกเสมือน เพราะไม่ได้เป็นโลกของ Actual Self หรือลักษณะตัวตนตามที่เป็นจริง แต่เป็น Ideal Self หรือตัวตนในอุดมคติ ดังนั้น โลกเสมือนจะต้องไม่ใช้ข้อมูล รูปแบบการทำวิจัยแบบเดิมที่เข้าใจมนุษย์แบบเห็นตัวตนจริงๆ แต่นักธุรกิจจึงต้องคิดกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ที่เข้าใจผู้บริโภคในระดับที่ ลุ่มลึกกว่าเดิม ชัดเจนมากขึ้น และมีความเข้าใจผู้บริโภคเชิงจิตวิทยา
“คณะบัญชี จุฬาฯจึงไม่ใช่เป็นเพียงองค์ความรู้ แต่ต้องมองให้ถึงรากเหง้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะความรู้ล้าสมัยได้ แต่สิ่งที่คงทนคือ ความฉลาดที่จะทำให้คนมองทุกอย่างให้ทะลุและมองให้ออกว่านวัตกรรมจะไปในทิศทางไหน นวัตกรรมทั้งหลายไม่ได้ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยี แต่ถูกพัฒนาจาก Human Instinct เพราะฉะนั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเกิดจากความเข้าใจมนุษย์ และ Metaverse คือ นวัตกรรมที่บวกกับความเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้งที่สุด ฉะนั้น บทบาทหน้าที่ของคณะบัญชี จุฬาฯ จึงไม่ใช่
นำพาความรู้สมัยใหม่ แต่เป็นการนำพาแนวคิดความฉลาดสมัยใหม่ เพื่อ Unknown unknowns สิ่งที่คนยังไม่รู้ว่าไม่รู้ ให้กลายเป็น Known known รู้จริงรู้ลึก
รองศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ กล่าวว่า ภายในงานครั้งนี้ มีการนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งคณะบัญชี จุฬาฯ คาดหวังว่า ผู้บริหารองค์กรจะสามารถนำไปพัฒนาและสร้างสรรค์ธุรกิจด้วยตนเองในโลก Metaverse อาทิ
ดร. อาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหาร คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (UN ESCAP) Integrating the SDGs in Business Management “Preparing Business for the Future” กล่าวถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง UN ESCAP กระตุ้นให้ผู้นำองค์กรบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในกลยุทธ์การบริหารและกรอบการดำเนินงาน ในขณะที่ผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ต้องการสร้างสรรค์ธุรกิจที่ไม่เพียงมุ่งแสวงหากำไร แต่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ กล่าวเสริมว่า ในยุคของการทำธุรกิจออนไลน์นี้ ผู้ประกอบการ ไม่เพียงแค่การทำธุรกิจให้ยั่งยืนเท่านั้น แต่ต้องทำ Digital Sustainability เช่นกัน ซึ่งเป้าหมาย SDGs ที่เหมาะกับธุรกิจยุค Metaverse ได้แก่ ข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) และข้อ 5 ความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Equality)
“Marketing Downside-up through Solid Foundation” เป็นอีกหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ หลังจากธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะขาลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดย ผศ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด และ ผศ. ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และ การบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมเปิดมุมใหม่ในหัวข้อ “Marketing Downside-up through Solid Foundation” นำเสนอกุญแจ 4 ดอก ไขประตูไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน คือ Mutation (การกลายพันธุ์ของลูกค้า), Fusion (การข้ามสายพันธุ์ธุรกิจ) , VA-Dentification (การหาคุณค่าใหม่ๆ), และ Inspiration (การสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้า)
ขณะที่ Prof. Dr. Matthew C. Stephenson จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำเสนอข้อมูลในประเด็นการคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองด้านธุรกิจและการตลาด ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาเชิงลึกต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีมาสเตอร์มาฉายภาพให้เห็นถึงแนวโน้มนวัตกรรมที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และ Blockchain โดย รศ. ดร. วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ จากภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ควอนตั้ม คอมพิวติ้ง จะเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต
ส่วน จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา แห่ง บิทคับ กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ 3 ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือเรียกว่า Web 3.0 ซึ่งจะมีการพัฒนาบนหลายๆ เทคโนโลยีแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น AI, Blockchain, Big Data, Metaverse, NFT, Cryptocurrency และ IoT
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวคิดและโมเดลเรื่อง “อนาคตที่ยั่งยืนด้วยการเงินแบบกรีน” ที่มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินมีการจำแนกกลุ่มธุรกิจสีเขียว และสีน้ำตาลให้ชัดเจน รวมไปถึงวิธีการรายงานบัญชีทางการเงิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) พยายามผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีการทำ One Report ให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 60 บริษัท
ส่วนการบริหารจัดการองค์กรแห่งอนาคต ภาคพาณิชย์แห่งคณะบัญชี จุฬาฯ แนะต้องให้ความสนใจและจริงจังกับ ESG , ต้องทำกลยุทธ์จาก purpose , การต่อสู้กับ disruption, การควบรวม หรือแยกกิจการ สุดท้ายการ hybrid ทุกวันนี้อยู่บนโลกสองใบออฟไลน์ และออนไลน์ จะทำอย่างไรให้สมดุล ก่อนที่จะก้าวสู่ยุค Metaverse เต็มรูปแบบ
“Metaverse เป็นนวัตกรรม touchnology ที่พัฒนาจากการเข้าใจ Human Instinct อย่างลึกซึ้ง ปี 2022 ทุกคนมีโลก 2 ใบ Actual Self และ Ideal Self ธุรกิจต้องพร้อมบนออนไลน์ 100% และไม่ใช่การขายคุณสมบัติสินค้า แต่เป็นการขายความรู้สึกอารมณ์ และสังคม สุดท้าย คือการทำธุรกิจที่ยังคงต้องมีโลก 2 ใบเช่นกัน คือขายของทั้ง Offline และ Online ด้วย บริษัทต้องเข้าใจ Human Insight ตัวตนของผู้เกี่ยวข้อง อย่างแท้จริงในยุค Metaverse จึงจะก้าวล้ำในโลกอนาคต ไม่ใช่แค่ก้าวทันโลก” รศ ดร. วิเลิศ กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลฉบับเต็มของ Chula Masterverse สามารถชมคลิปวิดีโอได้ที่
https://www.facebook.com/CBSChula/
ที่มา: แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์