ม.มหิดล พร้อมยืนหยัดเป็นที่พึ่งผู้ป่วยโรคไตของไทย
ในคืนข้ามปีหลายคนเฝ้ารอช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อภาวนาถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในปีใหม่ ไม่มีคำอธิษฐานใดที่ยั่งยืนไปกว่า การขอให้มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญทำให้เกิดสิ่งที่ดีสู่ชีวิตต่อไป
แต่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เริ่มดูแลตัวเองอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เคยถามตัวเองบ้างไหมว่าไม่อยากต้องฟอกไต แต่ทำไมยังกินเค็ม และจะทำอย่างไรเมื่อต้องล้มป่วยแต่เตียงโรงพยาบาลเต็ม
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ “ศิริราช-กาญจนา” กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทั้งที่โรงพยาบาลศิริราช และ “ศิริราช-กาญจนา” ยังสามารถให้บริการฟอกไตให้ผู้ป่วยโรคไตได้อย่างจำกัด โดยที่โรงพยาบาลศิริราชมีจำนวน 50 เตียง และที่ “ศิริราช-กาญจนา” จากเดิมมีเพียง 10 เตียง แต่ได้ร่วมกับภาคเอกชนขยายบริการเพื่อให้สามารถรองรับ 48 เตียงโดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 และในอนาคต”ศิริราช-กาญจนา” จะสามารถรองรับผู้ป่วยโรคไตได้ 150 รายต่อวัน เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยโรคไตที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐานะ และสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ตามระเบียบของกรมบัญชีกลางในรายที่เป็นข้าราชการ ได้รับบริการที่ดีที่สุดภายใต้ “ศูนย์ไตเทียมกาญจนาภิเษก” (Golden Jubilee Fresenius Kidney Care)
ที่ผ่านมาแม้ ศูนย์ไตเทียมกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee Fresenius Kidney Care) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา จะเป็นที่พึ่งแห่งหนึ่งที่สำคัญของผู้ป่วยโรคไต แต่การเพิ่มเตียง หรือขยายบริการเป็นเพียงการดูแลที่ปลายเหตุโดยแนวโน้มอุบัติการณ์โรคไตในปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง ตราบใดที่ผู้ป่วยยังไม่ปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าผู้ป่วยในกลุ่ม NCDs ที่มีภาวะเบาหวาน เสี่ยงต่อการเสื่อมของระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายที่เกิดจากการผิดปกติของหลอดเลือดนอกจากโรคตา และโรคหัวใจแล้ว ยังรวมถึงการป่วยเป็นโรคไตอีกด้วย
และแม้ COVID-19 จะไม่ได้ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น แต่ปัญหาCOVID-19 ทำให้ผู้ป่วยสูงวัยที่กำลังป่วยด้วยโรคบางโรคซึ่งต้องรับยากดภูมิ แล้วทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ COVID-19 จนถึงแก่ชีวิตด้วยอาการทางปอด ซึ่งผู้ป่วยโรคไตถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในนั้นด้วย
“เราไม่ต้องการให้ผู้ป่วยมาถึงจุดสุดท้ายที่ต้องมาล้างไตฟอกเลือด แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ การดูแลตัวเองอย่างจริงจัง โดยเข้ารับการตรวจคัดกรองกันเสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่วันนี้ และเมื่อถึงในระยะที่จำเป็นจริงๆ เชื่อมั่นได้ว่า ศูนย์ไตเทียมกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee Fresenius Kidney Care) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมยืนหยัดเป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยโรคไตของไทยเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีที่สุด” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้ที่ Facebook : ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล www.gj.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล