ม.มหิดล – วช. พัฒนาแอปพลิเคชัน MU MyMind เสริมสุขภาวะทางจิตเด็กและเยาวชน

ม.มหิดล – วช. พัฒนาแอปพลิเคชัน MU MyMind เสริมสุขภาวะทางจิตเด็กและเยาวชน

ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต เกิดขึ้นได้กับทุกคนหากขาดสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ และภาวะซึมเศร้ารักษาได้

จากข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กและเยาวชนไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากขึ้น ตั้งแต่เด็กประถม จนถึงอุดมศึกษา โดยได้เข้ารับการรักษาเพียงครึ่งเดียว

รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลว่า จะต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งกาย-ใจ ซึ่งการเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นพยาบาลวิชาชีพที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย-ใจได้นั้น ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษาในหลักสูตรฯ

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการดูแลสุขภาวะทางจิตใจในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งนอกจากเป็นการเตรียมพร้อมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก่อนเข้าศึกษาต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการสร้างบัณฑิตสู่เส้นทางพยาบาลวิชาชีพคุณภาพแล้ว ยังได้มีการวางแผนเพื่อการขยายผลสู่ระดับนโยบายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของเด็กและเยาวชน โดยไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติหรือศาสนา ภายใต้แบรนด์ “MU MyMind” ที่สร้างขึ้นเพื่อให้จดจำได้ง่ายสำหรับการเข้าถึงต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร หัวหน้าภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัย MU MyMind ว่า ปัญหาภาวะซึมเศร้าในปัจจุบัน พบได้ตั้งแต่เด็กประถม เยาวชนที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เขามีอาการและมีความคิดฆ่าตัวตายตั้งแต่เขาอยู่ประถมศึกษา ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบ “MU MyMind” ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนในแต่ละระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 6 แห่ง เริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันตั้งแต่เริ่มต้น

ปัจจุบัน “MU MyMind” อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลจากการทดลองในเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในระยะที่ 2 และขยายผลสู่สถานศึกษาที่แจ้งความประสงค์ใช้ผลการวิจัย รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนในพื้นที่ หากแล้วเสร็จจะได้แอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดกรองสุขภาพจิตด้วยการให้ผู้ใช้แอปพลิชันทำแบบทดสอบประเมินตนเอง ก่อนเข้าสู่โปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจซึ่งพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ หลักฐานเชิงประจักษ์ และการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งยังมีระบบบริการให้การปรึกษาแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย

จุดเด่นของแอปพลิเคชัน “MU MyMind” คือ การออกแบบให้ระบบสามารถคัดกรองเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นและส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว เพื่อลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้า ทั้งยังได้ออกแบบให้ระบบแจ้งเตือนเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนเข้ามาฝึกและเรียนรู้ในโปรแกรมฯ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดทักษะในการคลายเครียด ตระหนักรู้ในอารมณ์ของตนเอง สามารถจัดการกับความคิดความรู้สึก และมีทักษะในการเผชิญปัญหาอย่างสร้างสรร การฝึกอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เด็กและเยาวชนเกิดทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน “MU MyMind” ยังช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของตนเองในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัน เวลา สถานที่ เด็กและเยาวชนที่มีอาการซึมเศร้าส่วนใหญ่ไม่กล้าไปรับการรักษา ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะเกรงจะถูกตีตราว่าเป็นคนไข้จิตเวช ในอนาคต “MU MyMind” จะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเด็กและเยาวชนในการประเมินสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจด้วยตนเอง โดยสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาและบ่อยครั้งตามความต้องการของแต่ละคน

“ความเครียด” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ความเครียดเล็กน้อยช่วยให้คนเราตื่นตัวในการจัดการกับปัญหา แต่บางครั้งคนเราก็อยู่ในภาวะที่มีความเครียดสูง หากปล่อยให้ความเครียดสะสมต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร ได้แนะนำเคล็ดลับในการดูแลตนเองว่า อย่าปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ใน “หลุมดำ” ของความคิดและอารมณ์ ฝึกสังเกตและจัดการกับความรู้สึกด้านลบด้วยการมี “สติ” รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตน หากพบว่ากำลังตกอยู่ในความทุกข์ ความเศร้า ให้รับรู้โดยไม่ต้องตำหนิตนเองหรือผู้ใด รับรู้แต่ไม่จมอยู่กับความรู้สึกทางลบเหล่านั้น พยายามดึงสติกลับมาอยู่กับการหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือหากิจกรรม/สิ่งที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนตัวเองออกจากความรู้สึกด้านลบ หากรู้สึกเป็นทุกข์หาทางออกไม่ได้ ขอให้หาตัวช่วย อาจจะปรึกษาบุคคลใกล้ชิดที่ไว้วางใจ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อป้องกันการก่อตัวของความเครียดเรื้อรังจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ขอเชิญชวนให้ฝึกการหายใจคลายเครียดอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นทักษะติดตัว เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์เครียด จะได้นำมาใช้จัดการความเครียดได้โดยเร็ว “สติ” เป็นจุดเริ่มต้นของการคลายเครียด จากนั้น “สติปัญญา” และ “พลังบวก” ในตัวเราจะวิ่งเข้ามาช่วยจัดการปัญหา ขอแค่อนุญาตให้ตัวเราได้เริ่มต้นที่จะ “เรียนรู้” และ “สร้างสรรค์สิ่งใหม่” ให้กับชีวิต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ