มช. ได้รับการรับรองเป็น “พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ” 1 ใน 15 เมืองอัจฉริยะของประเทศ
CMU Smart City เมืองต้นแบบด้าน Smart City เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการเมือง โดยการศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ บูรณาการเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าและนำมาต่อยอดให้ใช้งานได้จริง พร้อมเผยแพร่ส่งมอบให้แก่สาธารณะ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการพิจารณาเป็น “พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ” 1 ใน 15 เมืองอัจฉริยะของประเทศ “ประเภทเมืองเดิม” จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีการมอบตราสัญลักษณ์ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล สามารถใช้ตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand ได้เป็นระยะเวลา 2 ปี
ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ เช่น ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ รวมถึงศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Smart Campus Management Center, SCMC) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เช่น ระบบเครือข่าย ระบบ Internet ไร้สาย 4G, 5G, LoRaWan โครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก โครงข่าย Internet of Things (IoTs) เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน คือ
(1) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น
(2) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก อาทิ มีการสร้างระบบ Smart Grid, Low carbon society โดยมีแผนการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊ส พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล
(3) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
(4) ด้านขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) บริหารจัดการสัญจรที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อลดการใช้พลังงานและมลภาวะต่อเมืองและชุมชนรอบข้าง โดยการวางผังเมืองสร้างการเชื่อมต่อคมนาคมให้สามารถเดินถึงกันได้ และมีการเชื่อมต่อเครือข่ายขนส่งที่สะดวก
(5) ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดให้มีวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต (CMU Lifelong Education) เพื่อเป็นช่องทางการศึกษาตลอดชีวิตและเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบออนไลน์ตามแนววิถีใหม่
(6) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต
(7) ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่พัฒนาระบบข้อมูล (Big Data) และระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อมีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อมั่นว่าการดำเนินการ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน” จะเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรม สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองยั่งยืนให้กับชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสามารถถ่ายทอดสู่ชุมชนรอบข้างให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น