หุ่นยนต์การแพทย์ (Medical Robotics) กับ อนาคตของเฮลท์แคร์
ในงาน มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ หรือ BCG Health Tech Thailand 2021 ครั้งแรกในประเทศโดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน และเวทีสัมมนา “Digi-Health Tech for Smart Hospital” จัดโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) พันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 150 หน่วยงาน จาก 7 เขตเศรษฐกิจ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง หุ่นยนต์การแพทย์กับอนาคตของเฮลท์แคร์ ว่า ในสภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดโควิด-19 มาจนถึงการกลายพันธุ์เป็นไวรัสโอมิครอน เมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ของ ‘ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (2021 Global Health Security Index)’ จากจำนวน 195 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์ชั้นนำของโลก ซึ่งตนเองเคยได้มีโอกาสไปศึกษาด้านหุ่นยนต์การแพทย์ที่นั่น และเมื่อกลับมายังประเทศไทย จึงได้นำประสบการณ์ความรู้มาใช้พัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของไทย ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างทีมวิศวะมหิดลกับแพทย์ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง BARTLAB ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ ซึ่งนับเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทยที่พัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ที่ตอบสนองการใช้งานทางการแพทย์ได้จริง บทบาทหุ่นยนต์การแพทย์ไม่ได้มาทดแทนแพทย์ แต่เพื่อช่วยให้แพทย์ทำงานได้ดี แม่นยำและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จากเดิมต้องใช้คนจำนวนมากในการผ่าตัด เมื่อใช้ระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์ช่วยบริหารจัดการอุปกรณ์การผ่าตัดได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพปลอดภัย
หุ่นยนต์แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1. หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้ในโรงงานและสายการผลิต 2. หุ่นยนต์บริการ ซึ่งมี 2 ประเภทย่อย คือ Professional Robotics หุ่นยนต์ใช้ในวิชาชีพต่างๆ และ Domestic Robotics หุ่นยนต์ใช้งานในบ้าน เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดของหุ่นยนต์บริการ เติบโตขยายตัวมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของตลาดบริการเฮลท์แคร์ ไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสุขภาพและความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาและต่อยอดประดิษฐ์หุ่นยนต์การแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจเฮลท์แคร์และการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้หุ่นยนต์บริการในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น เช่น หุ่นยนต์ขนส่งในคลังสินค้า ตอบโจทย์ความรวดเร็ว แม่นยำ การเว้นระยะห่าง ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัส และลดมลพิษ ด้านหุ่นยนต์การแพทย์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีการนำมาใช้ในระบบบริการเฮลท์แคร์และบำบัดรักษาของโรงพยาบาลชั้นนำมากมายแสดงถึงการเป็นที่ยอมรับของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ด้วยจุดเด่นของความแม่นยำช่วยให้แพทย์ทำงานผ่าตัดได้อย่างมีข้อมูลถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่คณะวิศวะมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ได้พัฒนาขึ้น เช่น ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดเนื้องอกในต่อมใต้สมองผ่านกล้องทางช่องรูจมูก ซึ่งประกอบด้วย ระบบนำทาง 3 มิติ และหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยก่อนผ่าตัดจะนำภาพจาก CT SCAN มาสร้างโมเดลจำลอง 3 มิติ บริเวณที่จะผ่าตัดพร้อมระบบกล้องแบบเรียลไทม์ติดตามเครื่องมือผ่าตัด รวมทั้งพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งมีการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์และใช้เป็นแนวทางให้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดตามที่วางไว้
ทีมวิจัยและนักศึกษาวิศวะมหิดลได้สร้างสรรค์ หุ่นยนต์ Telemedicine สำหรับขนส่งยา-อาหาร แพทย์สามารถพูดคุยกับคนไข้ผ่านจอภาพของหุ่นยนตื และสร้างหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่องจนมาถึงซีรีย์ปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยในขณะนั่งสามารถลุกขึ้นยืนได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ปลูกถ่ายผม (Hair Transplant Robotics) ด้วยเทคโนโลยี FUE เป็นรายแรกในประเทศไทยโดยสามารถปลูกถ่ายเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแบบเดิม
จะเห็นว่าหุ่นยนต์การแพทย์และระบบอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นแนวโน้มสำคัญของโรงพยาบาลอัจฉริยะ ยกระดับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และเครื่องมือแพทย์ของไทย โดยมีเทคโนโลยีสื่อสาร 5G 6G ช่วยเพิ่มศักยภาพของ IoT ในการส่งข้อมูลขนาดใหญ่และทำงานได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดและทำให้ Telemedicine มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นจริงและใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ช่วยยกระดับบริการเฮลท์แคร์ของโรงพยาบาล และเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ในอนาคตวงการเฮลท์แคร์จะเปลี่ยนโฉมไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกลงและดีขึ้น เช่น AR/VR Metaverse จะยิ่งเข้ามามีบทบาทต่อการฝึกสอนแพทย์ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยิ่งขึ้น
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น