รับมือโควิด’โอไมครอน’ วิศวะมหิดล – สมาคมธุรกิจคลังสินค้าฯ หนุนยกระดับโซ่ความเย็น (Cold Chain) รองรับมาตรฐาน GSDP ขนส่งยาและวัคซีน ประกาศใช้ 1 ม.ค. 65
ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้นานาประเทศ ขณะที่การวิจัยพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ยังต้องเดินหน้าคิดค้นไม่หยุดนิ่ง ในสังคมและเศรษฐกิจวิถีใหม่ที่ประเทศไทยต้องอยู่ร่วมกับโควิด 19 สู่การเปิดประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคงปลอดภัยนั้นทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานการขนส่งและจัดเก็บเพื่อรักษาคุณภาพของเวชภัณฑ์และวัคซีน จนถึงปลายทางผู้รับและประชาชน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ผนึกความร่วมมือกับ สมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น จัดงานสัมมนา Loghealth Forum เรื่อง “ยกระดับบริหารจัดการโลจิสติกส์โซ่ความเย็น (Cold Chain) ความท้าทายใหม่ของประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตื่นต้วพัฒนาเพื่อรองรับมาตรฐานกำกับดูแลอุตสาหกรรมโซ่ความเย็น ยาและวัคซีน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะประกาศใช้มาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) หลักปฏิบัติที่ดีในการกระจายสินค้าเวชภัณฑ์ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย โดยสอดคล้องกับระดับมาตรฐานสากล และองค์การอนามัยโลก
เภสัชกร ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากปัญหาความหลากหลายของข้อมูลผลิตภัณฑ์ ทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ตลอดจนข้อมูลและอุปกรณ์ในระบบโซ่ความเย็น การทำงานของบุคลากรในระบบโซ่ความเย็นที่ยังขาดความรู้ในการจัดเก็บและการขนส่งผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะประกาศใช้มาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 นี้ ซึ่งเป็นประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกระจายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2564 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ (พ.ร.บ.ยา 2510) กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าที่ดี Good Distribution Practices (GDP) เพื่อยกระดับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในภาคเอกชนจะมีมาตรฐานที่ใช้เป็นหลักในการพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และภาคประชาชนจะได้รับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในมิติคุณภาพความปลอดภัยของผู้ป่วย
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมโซ่ความเย็นมากขึ้น มีมูลค่าตลาด 2.6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละ 8% จากการคำนวณอัตราการเติบโต CAGR (Compound Annual Growth Rate) ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2019 ถึงปี ค.ศ. 2022 เป็นที่ทราบกันดีว่า ประสิทธิภาพของยา วัคซีนรักษาโรค ตลอดจนอุณหภูมิการเก็บรักษา การขนส่งถึงผู้ป่วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องตระหนักถึง ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานความเย็น (Cold Chain) จึงจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพตามมาตรฐานของประเทศและหลักสากลของ WHO ด้วย แนวทางมาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) ซึ่งกำหนดไว้ในข้อกฎหมาย จะเป็นแนวทางสำหรับใช้ในการจัดส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ในห่วงโซ่การกระจายจากผู้ผลิต และการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ตลอดจนการบริจาค อาทิเช่น
ผลิตภัณฑ์ยาที่กำหนดสภาวะควบคุม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาที่ไวต่ออุณหภูมิ ต้องควบคุมสภาวะการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาระหว่างการขนส่งให้เหมาะสม ตามสภาวะการเก็บรักษาที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ยา และต้องขนส่งด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น บรรจุภัณฑ์เก็บรักษาอุณหภูมิ ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ยา และยานพาหนะที่ควบคุมอุณหภูมิได้ หากมีการนำวัสดุให้ความเย็นมาใช้ในภาชนะบรรจุ จะต้องวางวัสดุให้ความเย็นในตำแหน่งที่ไม่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ยาโดยตรง และต้องตรวจสอบวัสดุให้ความเย็นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกครั้ง
ภาชนะบรรจุ บรรจุภัณฑ์และฉลาก ความจุของภาชนะบรรจุ และ บุคลากรของผู้กระจายผลิตภัณฑ์ยา ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GSDP และต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ต้องสะอาด แห้ง และรักษาอุณหภูมิตามกำหนด มีบริเวณแบ่งแยกสำหรับจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา มีป้ายแสดงชัดเจน การควบคุมอุณหภูมิและสภาวะแวดล้อม โดยจัดทำแผนผังอุณหภูมิ (Temperature Mapping) ของบริเวณจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา พร้อมติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิตามผลการศึกษาแผนผังอุณหภูมิ การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการออกแบบให้สะอาดมีสุขลักษณะ มีพื้นที่และแสงเพียงพอ ต้องสามารถรักษาระดับอุณหภูมิที่กำหนด จัดจ่ายยาหมุนเวียนตามหลักการ First Expired First Out (FEFO) ส่วน การจัดส่งผลิตภัณฑ์ยา ต้องมีเอกสาร รายละเอียดตามที่กำหนด สภาวะการจัดเก็บ และจัดให้มีบันทึกว่าจัดส่งไปที่ใด รวมทั้งกำหนดรายละเอียดขั้นตอนวิธีปฏิบัติ การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ได้ทันทีและตลอดเวลา สามารถสอบย้อนกลับได้ ตลอดจน การกระจายและขนส่งสินค้า
คุณณัฐภูมิ เปาวรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น กล่าวว่าผู้ให้บริการคลังและโลจิสติกส์ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนมาตรฐาน GSDP เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน สำหรับ เมกะเทรนด์แนวโน้มการพัฒนาของห้องเย็น (Cold Storage) ในประเทศไทย มี 3 ประการ คือ 1. Robotic & Automation ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และอัตโนมัติในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง แม่นยำ โดยเฉพาะในวงการอาหารและยาสำคัญมาก เพราะในการจ่ายสินค้าแต่ละครั้ง ผลิตภัณฑ์เดียวกันแต่หากส่งผิดล็อต จะก่อให้เกิดปัญหาทันที 2. Data-Driven Business ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล ตรวจสอบย้อนกลับได้ และแสดงบน Dashboard เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงในอนาคตได้ และ 3. Pharmaceutical & Healthcare เป็นแนวโน้มสำคัญจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย และโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น Vaccine at Home ระบบแพทย์ทางไกล
ปัจจัยที่จะทำให้โซ่ความเย็น (Cold Chain) เกิดความสำเร็จ ได้แก่ 1. Certification Standard & Operation Excellence ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในอนาคตจะต้องผ่านการรับรองด้วยมาตรฐาน GMP & HACCP, ISO 9001, ISO 14001 และ GSDP (Good Storage and Distribution Practise)เพื่อความมั่นใจในระบบบริหารจัดการมีคุณภาพ เป็นต้น 2. การพัฒนานำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น (Smart Warehouse-Cold Storage & Technology) มี เช่น ด้าน Smart Warehouse นำระบบ AI Camera ช่วยแคปเจอร์ภาพ คัดแยกผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าใช้สายตาคน, QR Code & Scanner, ASRS (Automated Storage and Retrieval System) ระบบจัดเก็บและดึงข้อมูลอัตโนมัติ เพื่อความแม่นยำในการจัดเก็บและการหยิบจ่าย, IoT Temperature Sensor เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอย่างแม่นยำ เป็นต้น ด้าน Smart Transport มีความสำคัญไม้แพ้กัน จะมีการนำ AI Control Tower, Smart GPS Track & Trace เข้ามาช่วยติดตามและควบคุมคุณภาพ Smart Information การเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถโชว์ข้อมูลบน Dashboard และนำมาใช้วิเคราะห์พัฒนาต่อไปได้
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น