ม.มหิดล ติดปีก “ทักษะการใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ให้กับนักศึกษา

ม.มหิดล ติดปีก “ทักษะการใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ให้กับนักศึกษา

สังคมภายในรั้วมหาวิทยาลัย เปรียบเหมือน “สังคมจำลอง” ของโลกแห่งความเป็นจริงที่อยู่ภายนอก ไม่ว่าสถานการณ์โลกภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นเช่นไร สิ่งที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยจะสามารถให้นักศึกษาได้ คือ การติดปีกด้วย”ทักษะแห่งชีวิต” นอกเหนือไปจาก”ทักษะแห่งวิชาการ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไม่ว่าวิกฤติ COVID-19 จะพลิกโลกแห่งการศึกษาให้เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ “ความเป็นมหาวิทยาลัย” ที่ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ “Sandbox”

ของการใช้ชีวิตในอนาคตด้วยตัวเองจาก “สังคมจำลอง” ภายในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น

ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ในฐานะผู้ริเริ่ม platform ทักษะการใช้ชีวิต “H-I-D-E-F” ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวว่า ในสถานการณ์ COVID-19  “H” หรือ Health literacy เป็นทักษะความรู้ด้านสุขภาวะที่ขาดไม่ได้สำหรับ “มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ” เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะต้องปลูกฝังให้เป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญแก่นักศึกษา เพื่อประโยชน์ในการดูแลตัวเอง และผู้ที่อยู่รอบข้าง

นอกจากนี้ เพื่อให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเสริมทักษะ “D” หรือ Digital literacy ซึ่งเป็นทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ “F” หรือ  Financial literacy ซึ่งเป็นทักษะเรื่องการใช้จ่ายร่วมด้วย โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดอบรมทั้ง 2 ทักษะดังกล่าวให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง

และในปีการศึกษา 2565 จะได้เน้นเพิ่มเติมในส่วนของ “I” หรือ Internationalization ทักษะความเป็นนานาชาติ และ “E” หรือ Environmental literacy ทักษะด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเร่งฟื้นฟูหลังคลายล็อกกันอย่างจริงจังต่อไป

อีกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นชื่อว่าเป็น “Change Agent” หรือ “ผู้นำ” ซึ่งกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนไป สู่สังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การประกาศให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถแต่งกายได้ตามเพศสภาพ และตามความเชื่อทางศาสนา ภายใต้กรอบแห่งความเหมาะสมทางวิชาชีพในอนาคต

ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลแล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะ “Critical thinking” หรือ”ความคิดเชิงวิเคราะห์” จากการเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้ฝึกใช้วิจารณญาณในการแต่งกายให้เหมาะสมตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างมีเหตุผลด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการแสดงออกได้ถึงความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคมรอบข้างอีกด้วย

บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยอีกประการหนึ่ง คือ การ “รับฟัง” เสียงของนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นมหาวิทยาลัย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวว่า จะต้องเป็นการรับฟังอย่างตั้งใจ จริงใจ และด้วย “ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์” (Empathy) นอกจากนี้ควร “รับฟังแบบเชิงรุก” โดยไม่ต้องรอให้นักศึกษาเข้ามาบอกว่าต้องการอะไร แต่พร้อม “ใส่ใจ-ติดตาม-ดูแล”

ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้นักศึกษารู้สึกเหมือนโดนจับผิด แต่เป็นการติดตามเพื่อจะได้รู้ว่านักศึกษารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยจัดการให้ แล้วนำมาเป็นข้อมูลใช้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของ “Student’s Journey”  ที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะได้พบเจอระหว่างเส้นทางของการเป็นนักศึกษา ที่จะจบออกไปเป็นบัณฑิตที่พร้อมโบยบินด้วยปีกที่เสริมแกร่งแล้วด้วยทักษะทางวิชาการ และทักษะการใช้ชีวิต

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ