อธิการบดี ม.ร. เชิญร่วมงาน 5 ทศวรรษรามคำแหงพร้อมเปิดวิสัยทัศน์พัฒนารามคำแหง ตอบโจทย์สังคมในทุกมิติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เชิญชวนบุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่าร่วมงานวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 50 ปี “5 ทศวรรษ รามคำแหงร่วมสร้างคน ร่วมสร้างประเทศ” ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 พร้อมเปิดวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงในอนาคต ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในทุกมิติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครบรอบ 50 ปี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ได้เตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งและสานสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่า นักศึกษา และคณาจารย์ โดยจะมีพิธีบวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย รวมทั้งพิธีมอบรางวัลอาจารย์ดีเด่น บุคลากรดีเด่น ศิษย์เก่าดีเด่น และนักศึกษาดีเด่น ให้แก่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรมคุณธรรม ได้อุทิศตนรับใช้และทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ ๕ ทศวรรษรามคำแหง โดยให้ความหมายของสัญลักษณ์เลข ๕ หมายถึง 5 ทศวรรษ หรือ ครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2564 วงกลมของเลข ๕ ยังสื่อถือการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่กระจายไปสู่ทุกภูมิภาคในประเทศไทยและทุกทวีปทั่วโลก จากการตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ 23จังหวัด และสาขาวิทยบริการต่างประเทศ ใน 32 ประเทศ ด้วย ส่วนลายเส้นของเลข ๕ ประกอบด้วยสีประจำมหาวิทยาลัย 2 สี คือ สีน้ำเงิน สื่อถึงระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอนที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นองค์ความรู้ที่สามารถแผ่ขยายได้ครอบคลุมในหลากศาสตร์หลายสาขาที่พร้อมจะให้ผู้เรียนต่อยอดได้อย่างไม่จบสิ้น และสีทอง สื่อถึงความรู้สึกทรงคุณค่า ซึ่งส่งเสริมให้สรรพวิชาที่นักศึกษาได้ร่ำเรียนในรั้วรามคำแหง เป็นองค์ความรู้ที่มีค่าสำหรับการนำไปใช้เพื่อก่อประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ
ดังนั้น ความหมายโดยรวมของตราสัญลักษณ์ ๕ ทศวรรษรามคำแหง จึงเป็นภาพที่แสดง ให้เห็นถึงพันธกิจหลักที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นปฏิบัติต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อให้โอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาที่หลากหลาย สร้างแนวคิดให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมได้ออกแบบเส้นทางชีวิตของตนเองอย่างมีคุณค่า
ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กล่าวถึงความสำเร็จของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในรอบ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมาว่า จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถานศึกษาแบบตลาดวิชา มีการจัดการเรียนการสอนแต่ไม่บังคับให้มาเข้าชั้นเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง การเรียนการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการ แก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ยึดมั่นและดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้มาตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี
ตั้งแต่แรกก่อตั้งได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทั้งผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มคนทำงาน รวมถึงบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว เพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาแบบไม่จำกัดจำนวนและไม่มีการสอบคัดเลือก เว้นแต่บางสาขาที่จำกัดจำนวนผู้เข้าศึกษา ทั้งยังมีการต่อยอดการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก อีกทั้งได้ขยายพื้นที่ทางการศึกษาให้กว้างไกลออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการเรียนให้กับประชาชนชาวไทยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
“ปัจจุบันได้สร้างบัณฑิตที่เปี่ยมไปด้วยความรู้คู่คุณธรรม ออกไปทำคุณประโยชน์รับใช้สังคมและประเทศชาติแล้วกว่า ๑ ล้านคน ซึ่งบัณฑิตส่วนมากได้รับการยอมรับจากสังคมการทำงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างชื่นชมกับอัตลักษณ์ของบัณฑิตรามคำแหง ที่มีความอดทน มุ่งมั่น รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ทำให้บัณฑิตรามคำแหงประสบความสำเร็จในทุกสายอาชีพ และหากเปรียบมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นบุคคลผู้หนึ่ง บัดนี้มหาวิทยาลัยเป็นบุคคลผู้มีช่วงวัยที่สั่งสมประสบการณ์มาอย่างพร้อมสรรพ ดังนั้น การหลอมรวมประสบการณ์จากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ล้วนมีส่วนนำพามหาวิทยาลัยให้มีพัฒนาการ ที่ต่อเนื่องยาวนาน ยืนหยัดเป็นมหาวิทยาลัยของสังคมและประชาชนตลอดระยะเวลา ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา”
อธิการบดี ม.ร. กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหงในอนาคตว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพและประสบการณ์พร้อมถ่ายทอดความรู้ทั้งในและนอกตำราเรียน รวมทั้ง ยังมีบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะดูแล อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาในทุก ๆ ด้าน มหาวิทยาลัยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพันธกิจหลักทั้ง 4 ด้านอย่างไม่หยุดยั้งทั้งด้านการเรียนการสอน วิจัย ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการบริการวิชาการแก่ชุมชน เพื่อตอบโจทย์ของโลกในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและการสอบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาได้เข้าถึงการเรียนและการสอบได้อย่างทั่วถึง
“มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ของสังคมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้จากศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ ได้ออกไปสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมากมาย รวมทั้งศิษย์เก่าจากคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ก็ได้จัดการเรียนการสอนและทำวิจัยที่มีชื่อเสียงให้กับหน่วยงานต่างๆ ด้วย เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ของนักศึกษาได้แบบรอบด้านและผลิตบัณฑิตครอบคลุมทุกศาสตร์แห่งการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ในทุกมิติ พร้อมทั้งยกระดับมหาวิทยาลัยไปสู่สากล เพื่อเป็นที่พึ่งพาของคนทุกชนชั้นทุกอาชีพต่อไป”
ที่มา: มหาวิทยาลัยรามคำแหง