ม.มหิดล ชี้ทางผลิตบัณฑิตแพทย์คุณภาพ ไม่ได้วัดกันแต่ด้วยข้อสอบ

ม.มหิดล ชี้ทางผลิตบัณฑิตแพทย์คุณภาพ ไม่ได้วัดกันแต่ด้วยข้อสอบ

ปัจจุบันการวัดคนด้วยข้อสอบ ไม่สามารถวัดได้ในเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพแพทย์ ซึ่งการสร้างแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ ไม่ได้วัดกันแต่ด้วยการออกข้อสอบ แต่ต้องประเมินให้ได้ว่านักศึกษาแพทย์มีความรู้  ความสามารถ ทักษะต่างๆ ที่ผ่านตามเกณฑ์ มาตรฐาน และมีเจตคติที่ดีเพื่อการเป็นแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ และสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติในอนาคต

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันหลักของชาติในการผลิตบัณฑิตแพทย์ให้กับประเทศ จากการมีคณะแพทย์อยู่ในสังกัดถึง 2 คณะ และ 1 โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทโดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งในส่วนงานซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิตแพทย์ไม่น้อยกว่า 180 คนต่อปี ซึ่งจากการเป็นครูแพทย์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ส่งผลให้ในปีการศึกษา 2563 ศาสตราจารย์นาวาเอก นายแพทย์อนันต์ โฆษิตเศรษฐ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาระดับปริญญา และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ในฐานะครูแพทย์ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการแพทยศาสตร์ศึกษาของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นาวาเอก นายแพทย์อนันต์ โฆษิตเศรษฐสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมารับราชการกรมแพทย์ทหารเรือ ก่อนมาเป็นอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้เป็นผู้ก่อตั้งสาขา “กุมารเวชบำบัดวิกฤต” ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นบุคคลผู้พลิกโฉมวางมาตรฐานการผลิตแพทย์โดยเน้นที่คุณภาพ

“กุมารเวชบำบัดวิกฤต” เป็นสาขาที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องได้รับการช่วยเหลือด้านการหายใจ และระบบไหลเวียนเลือด ตลอดจนดูแลผู้ป่วยเด็กหลังเข้ารับการผ่าตัด โดยมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมแพทย์ และพยาบาล ทั้งในระดับปริญญา และหลังปริญญา ตลอดจนแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ไปจนถึงการพัฒนางานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งนอกจากการเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดสาขาวิชากุมารเวชบำบัดวิกฤตเป็นแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ศาสตราจารย์ นาวาเอก นายแพทย์อนันต์ โฆษิตเศรษฐ ยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการประเมินผลที่มุ่งผลการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ เน้นการประเมินผลที่ไม่ใช่การตัดสินได้หรือตก แต่เป็นการประเมินผลเพื่อให้นักศึกษาแพทย์รู้จุดที่ควรพัฒนาของตัวเอง ให้โอกาสนักศึกษาแพทย์ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะจนสามารถสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้นักศึกษาแพทย์เสียขวัญและกำลังใจแล้ว ยังก่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะมุมานะเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ทั้งนี้ การวัดผลนักศึกษาแพทย์ต้องมีความสมดุลในการประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ และการประเมินผลเพื่อวัดผลของการเรียนรู้ และทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดแพทย์คุณภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่พร้อมมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริง ด้วยการสอนให้ “คิดเป็น” และ “ใฝ่หาความรู้” อยู่อย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ นาวาเอก นายแพทย์อนันต์ โฆษิตเศรษฐ เชื่อว่า ด้วยการสอนให้ “คิดเป็น” และ “ใฝ่หาความรู้” ด้านวิชาการและวิชาชีพ จะทำให้ “ครูคนหนึ่ง” สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ “ลูกศิษย์” ได้อย่างมากมาย ด้วยแนวคิดเดียวกันนี้จะสามารถสร้างบัณฑิตไม่ว่าจะสาขาวิชาใดก็ตาม ให้สามารถสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย สู่การเป็น “กำลังสำคัญของประเทศชาติ” ตลอดจนการเป็น”พลเมืองคุณภาพของโลก” ได้ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ