มจธ. คว้ารางวัลดีเด่นด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จากงาน Thailand Energy Awards 2021 (TEA 2021) พร้อมเดินหน้านำองค์ความรู้ ระบบการจัดการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หนุนการใช้พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพในชุมชนทั่วประเทศ

มจธ. คว้ารางวัลดีเด่นด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จากงาน Thailand Energy Awards 2021 (TEA 2021) พร้อมเดินหน้านำองค์ความรู้ ระบบการจัดการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หนุนการใช้พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพในชุมชนทั่วประเทศ

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในการประกาศผลโครงการประกวดสุดยอดพลังงานไทยระดับสากล ประจำปี 2021 หรือ Thailand Energy Awards 2021 (TEA 2021) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานที่ผ่านมา มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 63 รางวัลนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งเดียว ที่ได้รับรางวัลดีเด่น ด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในปีนี้ ซึ่งการรับรางวัลในด้านนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของมหาวิทยาลัย

“ที่ผ่านมาทาง มจธ. ได้รับรางวัลจากโครงการ TEA ด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ประเภทสถาบันการศึกษาในปี พ.ศ. 2551, 2554 และ 2558 ซึ่งในปีนี้ทาง พพ. ได้ปรับให้เป็นการประกวดในประเภทผู้ส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในส่วนของสมาคม/ องค์กร/ หน่วยงาน ภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ โดยมีเกณพ์การพิจารณาตัดสินในสี่ด้านประกอบด้วยการฝึกอบรม สัมมนา (ส่งเสริมบุคลากร), การจัดทำและเผยแพร่การอนุรักษ์พลังงาน/พลังงานทดแทน, การจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงาน/พลังงานทดแทน และกิจกรรม/โครงการที่โดดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงาน/พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ มจธ. ทำมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องการจัดการพลังงานที่เน้นการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างมีส่วนร่วมภายในมหาวิทยาลัยและขยายผลสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่จะนำเสนอผลจากการทำงานเรื่องนี้ ของมหาวิทยาลัยให้กับสังคมได้รับรู้ในวงกว้าง โดยการเข้าร่วมการประกวด TEA 2021 ในปีนี้อีกครั้ง”

อธิการบดี มจธ. กล่าวต่อว่า จุดเด่นของ มจธ. คือ นอกจากการให้ความสำคัญกับการสร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ในฐานะมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับแล้ว การนำความรู้หรือสิ่งที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยมาถ่ายทอดสู่ชุมชนภายนอกก็เป็นอีกนโยบายสำคัญของ มจธ. เช่นกัน

“การเป็นมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่สอนในห้องเรียน การเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ และการเรียนการสอนที่ มจธ. ทำคือทำให้เห็นของจริงที่ก่อให้เกิดแนวคิด เห็นปัญหาได้ชัดเจน สู่การสร้างโจทย์วิจัยที่สามารถนำเทคโนโลยีและความรู้ความเข้าใจมาแก้ปัญหา พัฒนาสู่เทคโนโลยี นวัตกรรมหรือเทคนิคใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด เมื่อนำไปใช้ก็ได้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ได้จริง ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบการทำวิจัยในพื้นที่จริง ที่เป็น Social Lab หรือ Living Lab ที่ มจธ. มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่”

สำหรับตัวอย่างผลงานด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้กับชุมชนและสังคม ของ มจธ. นั้น ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ที่ปรึกษาศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การดำเนินงานเราเริ่มทำจากภายในก่อนแล้วค่อยขยายผลออกไปสู่ชุมชนและสังคมรอบข้าง คือสิ่งที่ มจธ.ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเรามีการจัดการระบบที่ดีเป็นต้นแบบให้กับนักศึกษาและบุคลากรรวมถึงชุมชนรอบข้างได้นำไปใช้ปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดผลดีกับชุมชน สังคมและประเทศโดยรวม โดยผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ การที่ มจธ. เข้าไปทำงานในชุมชนต่างๆ อาทิ การให้ความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับเด็กนักเรียนและครูโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนสีเขียว (Green School Network) จำนวน 42 แห่ง การเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ทำร่วมกับชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัย รวมถึงการนำความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ เช่น การส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ในการฟักไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกหมูของกลุ่มเกษตรกรของจังหวัดราชบุรี ตลอดจนถึงการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่อาจารย์และนักวิจัยของ มจธ. รวมถึงนักศึกษา ได้พัฒนาขึ้นไปใช้จริงในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการติดตั้งชุดกังหันกระแสน้ำผลิตไฟฟ้า เพื่อชุมชนบนเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล กังหันน้ำคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสีเขียวด้วยพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มภาคใต้ ที่เป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นต้น

“หากเป็นเรื่องพลังงานทดแทน เราจะเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและพื้นที่แต่ละแห่ง เช่น การใช้กังหันกับพื้นที่ซึ่งมีลมพัดแรงอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ประสิทธิภาพสูงให้กับชุมชนทำให้มีน้ำใช้เพียงพอ นี่คือการขยายผลของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ไปสู่การใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของ มจธ. โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ผศ.สุชาดา กล่าวว่า การได้รับรางวัลดีเด่น TEA 2021 ด้านผู้ส่งเสริมด้านพลังงานดีเด่นในปีนี้ คือภาพสะท้อนผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายและการทำงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่มองทั้งตัวองค์กร ชุมชน และสังคม ที่ มจธ. ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี

“นโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกของบุคลากรในองค์กร เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ จะต้องจัดทำและดำเนินการตามข้อกำหนดหรือกฎหมายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำนอกเหนือจากนั้น คือการนำความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงเทคโนโลยี ที่เราพัฒนาได้ ไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม ที่เราทำอย่างจริงจัง และทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ มจธ. ได้รับรางวัลในปีนี้อีกครั้ง”

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ