มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบ”สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” เสริมความปลอดภัยคนข้ามถนน
นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบ”สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” โครงการนำร่อง “ระบบจราจรอัจฉริยะ สำหรับเมืองสงขลาน่าอยู่” เสริมความปลอดภัยคนข้ามถนน จากเสียงความความต้องการของนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และชุมชนเทศบาลนครสงขลา
รศ. จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการแผน งานวิจัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.สหพงศ์ สมวงค์ ผู้ร่วมวิจัย ร่วมส่งมอบ “สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” งานวิจัยโครงการย่อยที่ 3 “ระบบจราจรอัจฉริยะ สำหรับเมืองสงขลาเมืองสงขลาน่าอยู่” ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา โดยมี นายศรัญ บิลพัฒน์ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายพิษณุ เจริญเนตรกุล ผู้อำนวยการกองช่าง นายสมพงษ์ ช่วยเนียม ผู้จัดการโรงเรียนแจ้งวิทยา และตัวแทนประชาชนร่วมเป็นผู้รับมอบ ณ บริเวณหน้าโรงเรียนแจ้งวิทยา
รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวว่า โครงการ ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 2563 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนครสงขลา และประชาชนจากชุมชนเขตเทศบาลฯ ในการดำเนินโครงการทุกระยะ
ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาของโครงการนำร่องว่า เกิดจากกระบวนการความร่วมมือ 3 ส่วน คือ ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชน ทำให้คณะวิจัยสามารถคัดเลือกโครงการนำร่องที่เหมาะสมกับทรัพยากร เกิดเป็นโครงการระบบสัญญาณทางข้ามอัตโนมัติ หลังจากนั้นเราได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณคนข้ามถนนทั้งหมดในเขตเทศบาลฯ ทำให้พบว่าทางข้ามหน้าโรงเรียนแจ้งวิทยามีคนข้ามมากที่สุดถึง 800 คน ต่อชั่วโมง รวมถึงการใช้หลักวิศวกรรมจราจรและระบบแผนที่ GIS มาใช้วิเคราะห์หาความเหมาะสมของพื้นที่ อีกทั้งยังได้ลงพื้นที่ขอความคิดเห็นของนักเรียน บุคลากรในโรงเรียนและประชาชนที่ข้ามถนนบริเวณดังกล่าว ซึ่งพบว่าทั้งหมดมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยขณะเดินข้ามถนน และมีความต้องการให้ติดตั้งระบบบสัญญาณไฟดังกล่าว
สำหรับการใช้งานมีด้วยกัน 2 วิธี ซึ่งสะดวกและง่ายมาก โดยวิธีแรกคือการยืนรอข้ามถนนในระยะเซนเซอร์ตรวจจับ 2 วินาที หรือวิธีที่สองให้กดปุ่มสัมผัสที่อยู่บริเวณตัวเสา 1 วินาที เมื่อตรวจจับเจอสัญญาณคนรอข้ามแล้ว เสียงแจ้งเตือนสำหรับคนข้ามจะทำงานอัตโนมัติ และส่งสัญญาณไปยังป้ายไฟกระพริบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอหรือ หยุดรถเพื่อสร้างความสะดวกและปลอดภัยให้กับคนข้ามมากขึ้น
หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงผลลัพธ์ของงานวิจัยปิดท้ายว่า เราต้องการให้เมืองมีความสะดวก ปลอดภัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรและขนส่ง เพื่อสามารถรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของเมือง สนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมในเมือง และมองไปถึงการขยายต่อยอดโครงการไปยังเมืองซึ่งมีบริบทพื้นที่คล้ายกันในอนาคตอีกด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย