ม.มหิดล เผย 2 อาจารย์ได้รับยกย่องจาก Elsevier ผลงานวิจัยตอบโจทย์SDGs
เมื่อเร็วๆ นี้ Elsevier สำนักพิมพ์วารสารวิชาการด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ระดับโลกแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีอายุกว่า 100 ปีและมียอดดาวน์โหลดปัจจุบันถึงหลัก 100 ล้านครั้งต่อปี ได้มอบประกาศนียบัตรแก่อาจารย์นักวิจัย 2 ท่านจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ โดยศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานที่ตรงกับ SDGs ข้อที่ 5 เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Inequity) จำนวน 26 เรื่อง และSDGs ข้อที่ 16 เพื่อความสงบสุขและยุติธรรม (Peace And Justice) จำนวน 35 เรื่อง และ ศาสตราจารย์ดร.ฟรังซัวส์ เฮนรี่ นอสเทน(Prof.Dr.Francois Henri Nosten) อาจารย์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานวิจัยที่ตรงกับ SDGs ข้อที่ 3 เพื่อสุขภาวะที่ดี (Good Health) จำนวน218 เรื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนที่ 7 ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีศักยภาพสูงด้านการสร้างเครือข่ายวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยได้ทำการวิจัยมาแล้วทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอาเซียนด้านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพจิตของประชากร เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะ รวมทั้งเป็นผู้สร้างโปรแกรมทางสุขภาวะที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้นำเอาประสบการณ์จากการบริหารงานวิจัยในระดับนานาชาติที่ผ่านมา มาทำให้งานวิจัยสาธารณสุขมูลฐานของ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีความโดดเด่นในระดับนานาชาติ
จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติทั้งหมดกว่า 400 เรื่องของ ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ นั้น มีผลงานวิจัยที่ตรงกับ SDGs ข้อที่ 5 จำนวน 26 เรื่อง โดยเป็นงานที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และผลงานวิจัยที่ตรงกับ SDGs ข้อที่ 16 จำนวน 35 เรื่อง ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการลดอัตราการตายจากความรุนแรงและการละเมิด
ศาสตราจารย์ ดร.สุภา เพ่งพิศ ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ทำแล้วได้รับผลกระทบสูงและตอบโจทย์ทั้ง SDGs ข้อที่ 5 และSDGs ข้อที่ 16 คืองานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงไทยที่โดนสามีหรือคนรักทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่จะอายไม่กล้าขอความช่วยเหลือ และไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษายังไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ หากแต่เพียงสามารถให้คำแนะนำแบบทั่วไปได้เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถให้การช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำได้เท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจนสามารถช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถขยายผลไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายโดยสามีและคนรักในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.ฟรังซัวส์ เฮนรี่ นอสเทน อาจารย์แพทย์นักวิจัยชาวฝรั่งเศสประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คร่ำหวอดทำงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียวัณโรค และโรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งสุขภาวะแม่และเด็ก ณ บริเวณชายแดนของไทยมาตลอดเวลา 30 ปีโดยเป็นผลงานวิจัยที่ตรงกับ SDGs ข้อที่ 3 กล่าวว่า ปัญหาสุขภาวะประชาชนชายแดนไทย นอกจากปัญหาโรคมาลาเรียซึ่งปัจจุบันถูกกำจัดออกไปจากประเทศไทยแล้วแต่ก็ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ การเสียชีวิตของมารดาขณะตั้งครรภ์ ด้วยเหตุไม่ได้รับการทำคลอดที่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอุบัติการณ์โรคอ้วน รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส COVID-19
หลักในการทำงานวิจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับปัญหาสุขภาวะประชาชนชายแดนไทย คือ จะต้องทำจากโจทย์ปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ซึ่งจากจำนวนผลงานวิจัยทั้งหมดกว่า800 เรื่อง ของ ศาสตราจารย์ ดร.ฟรังซัวส์ เฮนรี่ นอสเทน มีจำนวน 218 เรื่องที่สามารถตอบโจทย์ SDGs ข้อที่ 3 เพื่อสุขภาวะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้กิจกรรมจิตอาสาขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย โดยสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็ก การกำจัดโรคมาลาเรีย รวมทั้งพัฒนาวิธีใหม่ในการรักษาโรคมาลาเรีย ตลอดจนลดอัตราการเกิดของวัณโรคได้
“ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญจากการทำงานวิจัยเพื่อสุขภาวะประชาชนชายแดนไทย คือ เรื่องของทุน นอกจากนั้นเป็นเรื่องของการเมือง และความขัดแย้ง แต่ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยตั้งใจจะมุ่งมั่นทำงานวิจัย เพื่อประชาชนชายแดนไทยในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.ฟรังซัวส์ เฮนรี่ นอสเทน กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล