ผลงาน ‘ทางเลือกใหม่สำหรับกระดูกเทียมเพื่อใช้ในร่างกายมนุษย์’ โดย นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย มจธ. คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Falling Wall Lab 2021
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิทยาการทางการแพทย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยจึงมีความหลากหลายเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ผลงาน “ทางเลือกใหม่สำหรับกระดูกเทียมเพื่อใช้ในร่างกายมนุษย์ (Breaking the Wall of Traditional Metal Implant)” โดย นายธีระพงษ์ พลตื้อ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และทีมวิจัย มจธ. ได้มีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหากระดูกเทียมที่มีใช้ในปัจจุบัน เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดใส่กระดูกเทียมไปแล้ว อาจส่งผลให้กระดูกโดยรอบในบริเวณที่ใส่กระดูกเทียมเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เนื่องจากกระดูกเทียมเป็นโลหะทรงตันที่มีความแข็งแรงมากกว่ากระดูกจริงของมนุษย์
นายธีระพงษ์ พลตื้อ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ เป็นการออกแบบโครงสร้างใหม่ให้กับกระดูกเทียมที่จะถูกนำไปใช้งานในร่างกายมนุษย์โดยจะต้องมีการปรับลดเนื้อวัสดุบางส่วนออก เพื่อให้ความแข็งแรงของกระดูกเทียมนั้นลดลงจนใกล้เคียงกับค่าความแข็งแรงของกระดูกจริงของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการปรับลดเนื้อวัสดุของกระดูกเทียมยังช่วยให้ไขกระดูกและเส้นเลือดฝอย สามารถเข้าไปเจริญเติบโตภายในกระดูกเทียมได้ ทำให้กระดูกเทียมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมากขึ้น และจะทำให้ภาวะกระดูกพรุนของกระดูกในบริเวณใกล้เคียงนั้นลดลงได้ การปรับปรุงและออกแบบกระดูกเทียมในครั้งนี้ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ร่วมกับวัสดุที่เป็นโลหะ เนื่องจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมีข้อดี คือ สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อน และสามารถสร้างรูพรุนในเนื้อวัสดุได้ถึงระดับจุลภาคซึ่งกรรมวิธีการผลิตกระดูกเทียมในปัจจุบันนั้นยังสามารถทำได้ไม่ดีนัก
นายธีระพงษ์ เปิดเผยว่า ผลงาน “ทางเลือกใหม่สำหรับกระดูกเทียมเพื่อใช้ในร่างกายมนุษย์ (Breaking the Wall of Traditional Metal Implant)” ได้ถูกนำเสนอบนเวที Falling Wall Lab Thailand 2021 ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันการนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบัน โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องนำเสนอความน่าสนใจของผลงานต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลา 3 นาที พร้อมด้วยข้อมูลการนำเสนอเกี่ยวกับผลงานไม่เกิน 2 หน้า โดยการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ธนิศร์ ตั้งกิจเจริญกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพและความเป็นสากลของนักศึกษา และอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ เป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งนาย ธีระพงษ์ สามารถผ่านเข้ารอบรอบชิงชนะเลิศและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครอง
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี