แพลทฟอร์ม PODD มช.ได้รับรางวัลระดับโลก พัฒนาต่อไม่หยุดยั้ง ล่าสุดเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรยุคดิจิทัล
ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มในการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง ปนเปื้อนใน พืชผัก ผลไม้ และในอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป และสุขภาวะของสังคมเป็นอย่างยิ่ง หลายหน่วยงานเสนอทางเลือกต่างๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต รณรงค์ให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐานทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการแก้ไขต้นทางของอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ ศูนย์ผ่อดีดีกลาง (PODD Centre) เป็นศูนย์สารสนเทศบริหารจัดการความรู้และข้อมูล เพื่อพัฒนาเครื่องมือ ดิจิทัลในระบบงานระบาดวิทยา และระบบงานสนับสนุนการเฝ้าระวัง (โรคระบาดในคน สัตว์ และภัยพิบัติในสิ่งแวดล้อม) ที่ยึดถือประโยชน์ของชุมชนเป็นอันดับแรก การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศระดับโลก The Trinity Challenge (TCC) โครงการจากประเทศอังกฤษ ที่เฟ้นหานวัตกรรมการรับมือและแก้ปัญหาภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขผ่านการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ล่าสุดได้นำนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อช่วยเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตทำมาตรฐานสำหรับรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมได้ด้วยตนเอง (PGS : Participatory Guarantee Systems) ซึ่งเรียกระบบนี้ว่า podd PGS ตอบโจทย์เกษตรกรในยุค 4.0 ที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยในการวางแผนการปลูก การบริหารจัดการ ผลิตสินค้าที่เน้นคุณภาพ อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายประเทศเรื่อง “อาหารปลอดภัย”
จากการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลของศูนย์ผ่อดีดีกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้เครื่องมือ podd PGS ที่พร้อมลงพื้นที่ให้เกษตรกร ซึ่งเครื่องมือนี้เปรียบเสมือนแผนที่นำทางในการดำเนินขั้นตอน บันทึกการผลิต จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลอัตโนมัติ สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ การตรวจรับรอง รวมถึงเพื่อใช้ข้อมูลสำหรับวางแผนการตลาด ทั้งยังสามารถใช้ฐานข้อมูลเพื่อรับรองการเป็นแปลงหรือโฉนดอินทรีย์ โดยคณะทำงานได้ลงพื้นที่เพื่ออบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการใช้เครื่องมือ podd PGS กลุ่มผลผลิตพืชผัก ให้แก่เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และ อปท. เช่น กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ อ.แม่ออน อ.แม่ริม อ.เวียงแหง รวมทั้งอบรมผ่านระบบ ZOOM ให้กับที่เกษตรกรผู้ที่สนใจที่อยู่ต่างจังหวัด กว่า 8 อปท. เช่น อบต.ท่ามะนาว จ.ลพบุรี อบต.น่าโส่ จ.ยโสธร อบต.พิมาน จ.นครพนม ทต.เกาะช้างใต้ จ.ตราด ซึ่งผลจากการอบรมที่ได้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ การใช้เครื่องมือดิจิทัล podd PGS แก่ผู้ใช้งานระบบให้สามารถใช้งานได้ถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญคือ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตจากการเกษตรมีความปลอดภัยจริง ผ่านระบบรับรอง ปลอดสารเคมี ทางผู้ผลิตก็สามารถขยายฐานการเติบโต เพิ่มขีดการแข่งขันทางการตลาดได้ในอนาคต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมิติเพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับเกษตรกรไทย ยกระดับมาตรฐานผลผลิต พร้อมสนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งก้าวสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มอัจฉริยะ เป็นเกษตรยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น