นวัตกรรม “ชุดหุ่นจำลองกายวิภาคตาสุนัขแบบสามมิติ” ผลงานอาจารย์คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ รางวัลเหรียญทองการประกวดนวัตกรรมที่โมร็อกโก
นวัตกรรม “ชุดหุ่นจำลองกายวิภาคตาสุนัขแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” (3D Dog Eye Anatomy Model for Self-learning) ผลงานของอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล “เหรียญทอง IWA 2020, Gold Award (Medal and Award Certificate), Rabat, Morocco” ในงานประชุมระดับนานาชาติ Innovation Week Africa, IWA 2020″ ที่เมืองราบัต สาธารณรัฐประเทศโมร็อกโก เมื่อเร็วๆนี้
นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลงานของ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ รศ.น.สพ.ดร.เกรียงยศ สัจจเจริญพงษ์ นางจันทิมา อินทรปัญญา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ด.ช. กฤตยชญ์ เชื้อศิริ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ชุดหุ่นจำลองกายวิภาคตาสุนัขแบบสามมิติ ประกอบด้วย ลูกตา หนังตา ต่อมน้ำตา กล้ามเนื้อลูกตา และเส้นประสาทที่ชัดเจน จำนวน 4 ชิ้น
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ หนึ่งในผู้พัฒนาชุดหุ่นจำลองตาสุนัขสามมิติ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมนี้ว่า เกิดจากข้อจำกัดในการใช้ดวงตาจากร่างสัตว์อาจารย์ใหญ่ในการเรียนการสอนนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งดวงตาจากร่างสัตว์อาจารย์ใหญ่เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้นาน มีขนาดเล็กและซับซ้อนมาก ทำให้ยากต่อการศึกษากายวิภาคเพราะมองไม่เห็น อีกทั้งเมื่อนิสิตขาดทักษะความชำนาญในการผ่าชำแหละ จึงมักทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างสำคัญ จนไม่สามารถนำอวัยวะ มาใช้ต่อได้อีก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมนี้ซี่งสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
สำหรับกระบวนการผลิตนั้นเริ่มจากการออกแบบผ่านโปรแกรมสามมิติ โดยอิงจากตาของสุนัขจริงเป็นต้นแบบ จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยออกแบบให้แต่ละส่วนสามารถถอดประกอบกันได้อย่างอิสระ และเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันเทลงบนแม่พิมพ์ เช่น เรซิ่น ยางพารา พลาสติกให้มีผิวสัมผัสนุ่มหยุ่นคล้ายกับลูกตาจริง หลังจากนั้นจึงมาหล่อแบบ และลงสีให้มีความแตกต่างชัดเจนในแต่ละส่วน
“การออกแบบชุดหุ่นจำลองเป็นจิ๊กซอว์ทำให้เรามองเห็นได้หมดทุกชั้นในดวงตาแต่ละข้างก็จะถอดออกในมิติต่างๆ ได้ เพื่อแสดงให้เห็นทั้งพื้นผิวด้านนอกและด้านในรวมทั้งด้านหน้ากับด้านหลังซึ่งก็จะทำให้เห็นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อได้ทุกมัด” ผศ.สพ.ญ.ภาวนากล่าว
สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมนี้ ผศ.สพ.ญ.ภาวนากล่าวว่าเป็นสื่อการสอนระบบตาสุนัขที่ขยายขนาด ให้ใหญ่ขึ้นจากปกติ มีการแบ่งสีในแต่ละส่วน สามารถถอดออกเพื่อศึกษาโครงสร้างได้ทั้งภายนอกและภายใน ขณะเดียวกันก็สามารถประกอบกลับรูปเดิมได้เหมือนกับจิ๊กซอว์ มีคุณภาพดี น้ำหนักเบา ทนทาน กันน้ำ ปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน ราคาไม่สูง และสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งจะทำให้นิสิตสามารถจดจำโครงสร้าง ของตาสุนัขได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อทดแทนตาสุนัขจริงได้ รวมทั้งสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนในการศึกษาด้วยตนเองได้อีกด้วย
ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เป็นสื่อการสอนแก่นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเสริมและทดแทนอวัยวะที่ขาดแคลน หรือร่างอาจารย์ใหญ่ที่ดองด้วยน้ำยาฟอร์มาลีน ซึ่งจะมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งผู้เรียนสามารถทบทวนด้วยตนเองได้ โดยใช้งานร่วมกับโปรแกรมสื่อสามมิติ ที่สามารถสแกน AR code ผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน หรือแทปเล็ตได้
เป้าหมายในอนาคตจะผลิตชิ้นงานให้มีจำนวนที่เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการใช้งานในระดับคลินิก ซึ่งสัตวแพทย์สามารถนำหุ่นจำลองไปประกอบการอธิบายเกี่ยวกับพยาธิสภาพของสัตว์ได้อีกด้วย นอกจากนี้จะพัฒนาต่อยอดการสร้าง ออกแบบ หุ่นจำลองทางกายวิภาคในอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนกายวิภาคทางสัตวแพทย์มีประสิทธิภาพการเรียนรู้สูงสุดรวมทั้งจะติดตั้งอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเพิ่มแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างความน่าสนใจและให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น
นอกจากนวัตกรรมที่เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยแล้วคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯยังจัดให้มีส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์ ที่ชั้น 3 อาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ที่สมบูรณ์ สำหรับนิสิตและผู้สนใจสามารถ เข้ามาเรียนรู้ หรือใช้เป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทางวิชาการได้
ส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์ ประกอบด้วยแผนผัง โมเดลจำลองกายวิภาคสัตว์ โครงกระดูกและร่างสตัฟฟ์ของสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีการจัดเรียงไว้อย่างเป็นระบบ นอกจากจะเข้ามาชมได้ด้วยตนเองแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้พัฒนาเว็บไซต์ทัวร์เสมือนจริง 360 องศาของส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์อีกด้วย ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมในยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี
สามารถเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงในรูปแบบ Virtual tour 360 องศา รวมทั้งคลังความรู้ด้านกาย วิภาคศาสตร์ได้ที่ http://www.exhibitant.vet.chula.ac.th/
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย